เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เร่งป้องกันหลุมฟักไข่เต่ามะเฟืองที่ชายหาดท้ายเหมือง พร้อมไลฟ์สดติดตามการฟักตัว หลังพบเต่ามีประสาทสัมผัสสูง ขอความร่วมมือ ไม่เหยียบย่ำพื้นทราย หวั่นเต่าทะเลไม่ขึ้นวางไข่

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 19 พ.ย.62 นายมงคล ลิ่ววิริยะกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง พร้อมด้วย นายประถม รัศมี ผอ.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 นายสุรสิทธิ์ หงส์ทวี ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงา และ นายปรารพ แปลงงาน หัวหน้าศูนย์ศึกษาและวิจัย อุทยานทางทะเลจังหวัดภูเก็ต ร่วมวางแผนหารือการดูแลรักษาไข่เต่ามะเฟือง จำนวน 85 ฟอง หลังจากแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ โดยเจ้าหน้าที่ได้นำไข่เต่ามะเฟืองเข้าฟักที่บริเวณชายหาด หน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ปักไม้ทำแนวกั้นกันคลื่นทะเล พร้อมป้องกันการรบกวนทั้งจากคน และสัตว์ต่างๆ โดยหากมีการสั่นไหวของพื้นทรายบริเวณหลุมฟักไข่บ่อยครั้ง อาจส่งผลให้ไข่เต่ามะเฟืองไม่ฟักตัวและจะฟ่อลงตามธรรมชาติ

...


ขณะที่ ทางฐานทัพเรือพังงาส่งกำลังทหารจำนวน 1 หมู่ เฝ้ารักษาผลัดเปลี่ยนเวรยาม ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการลักลอบขโมยไข่ พร้อมช่วยเสริมกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ที่เดินสำรวจการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเลในช่วงฤดูกาลวางไข่ เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ประสานเพื่อติดตั้งกล้อง CCTV ONLINE เตรียมถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทยานฯ เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามความเคลื่อนไหวของไข่เต่ามะเฟืองจนกว่าจะฟักตัวและปล่อยลงสู่ทะเล เนื่องจากลูกเต่ามะเฟืองยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้จึงต้องปล่อยคืนสู่ธรรมชาติหลังจากมีการฟักเป็นตัว


ขณะที่ นายปรารพ แปลงงาน หัวหน้าศูนย์ศึกษาและวิจัย อุทยานทางทะเลจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ต้องทำกับดักทรายเพื่อป้องกันไม่ให้คลื่นน้ำทะเลพัดท่วมถึง มีการติดตามร่วมกันระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กองทัพเรือภาค 3 ออกลาดตระเวนในพื้นที่ช่วงฤดูวางไข่ และเรื่องการถ่ายทอดเล่าเรื่องผ่านเครือข่ายสื่อออนไลน์ เพื่อลดการเหยียบย่ำในพื้นทราย ซึ่งประสบการณ์ก่อนหน้านี้พบว่า เมื่อมีการเหยียบย่ำพื้นทราย เต่าทะเลซึ่งมีหูกระดูกชิ้นเดียวมีการรับรู้คลื่นความถี่ต่ำกว่า 20 เฮิร์ตซ์ เป็นสัญชาตญาณการหลบหนีแผ่นดินไหว จึงต้องกันพื้นที่ที่เข้าชม พร้อมขอความร่วมมือผู้ที่เข้ามาต้องการสัมผัสกับเรื่องราวเต่าทะเลในพื้นที่

โดยทางอุทยานฯ มีการเตรียมแผ่นป้ายเรียนรู้ธรรมชาติของเต่าทะเลไว้ เมื่อหมดช่วงมรสุมทางเจ้าหน้าที่จะรื้อคอกเพื่อให้ลูกเต่าที่เตรียมฟักตัวสามารถเดินลงสู่ทะเลได้สะดวกขึ้น คาดว่าใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 45-60 วันหลังจากนี้.