อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ประกาศเอาจริง จัดการขยะในทะเล ชี้ ส่งผลสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม ออกกฎห้ามบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าเขตอุทยานฯ เริ่ม 25 พ.ย.2562 นี้

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา นำอุปกรณ์การเก็บขยะตักขยะทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ตามนโยบายของ นายศรายุทธ ตันเถียร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ โดยในแต่ละวันเจ้าหน้าที่สามารถตักขยะในทะเลได้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นขยะจำพวก ใบไม้ กิ่งไม้ ลูกมะพร้าว

ทางอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ได้เริ่มดำเนินการกิจกรรมการบริหารจัดการขยะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา สรุปปริมาณขยะอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา (ข้อมูลถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562) ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ปริมาณขยะ 16,772 กิโลกรัม หรือ 16.772 ตัน ปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ปริมาณขยะ 98,961 กิโลกรัม หรือ 98.961 ตัน ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ปริมาณขยะ 85,336 กิโลกรัม หรือ 85.336 ตัน รวมปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ จำนวน 201,069 กิโลกรัม หรือ 201.069 ตัน

...

ขณะที่ นายศรายุทธ ตันเถียร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ทำการแจกเอกสารเร่งรัดให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ดำเนินการขออนุญาต ต่ออนุญาต การดำเนินกิจการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา และแจกจ่ายประชาสัมพันธ์เอกสารห้ามนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าไปในเขตอุทยานฯ โดยมีการแจกจ่ายเอกสารประชาสัมพันธ์ให้แก่ ผู้ประกอบการ นายท้ายเรือ คนประจำเรือ ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน กันยายน 2562 นี้ ขอให้ผู้ประกอบการกิจการท่องเที่ยวติดต่อที่ทำการอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา หมู่ที่ 1 ต.เกาะปันหยี อ.เมือง จ.พังงา หากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ทางอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาจะดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้หนึ่งผู้ใด นำบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ได้แก่ กล่องพลาสติกบรรจุอาหาร จานพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้ว และขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 นี้ จึงขอให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เข้าเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาได้รับทราบโดยทั่วกัน


หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา กล่าวต่อว่า ทางเจ้าหน้าที่อุยานแห่งชาติอ่าวพังงาได้เก็บขยะทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงามาตั้งแต่ปี 2560 จนปัจจุบันพบว่าขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากชุมชนในเขตใกล้เคียงอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาถูกคลื่นลมซัดเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ส่วนขยะที่มาจากนักท่องเที่ยวนั้นพบว่ามีปริมาณน้อยกว่า ดังนั้นต้องปลูกจิตสำนึกพี่น้องประชาชนให้ทิ้งขยะน้อยลง หรือมีการคัดแยกขยะทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ในส่วนที่ทางอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาสามารถทำได้ คือ การควบคุมดูแลการทิ้งขยะในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา และการจัดเก็บขยะในทะเลให้มีปริมาณน้อยลง

...

นายศรายุทธ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นการตั้งกฎระเบียบในการนำขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก และเป็นขยะที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ เป็นการบังคับไม่ให้มีการทิ้งลงทะเล โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 นี้ เป็นต้นไป.