จากราคาข้าวเปลือกเหนียวที่พุ่งสูงถึง กก.ละ 20 บาท ทำให้ชาวนากาฬสินธุ์ที่เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางไว้กิน ต่างขนข้าวไปขายให้กับโรงสีเป็นจำนวนมาก บางรายไม่มีพอขายเพราะกลัวจะไม่มีข้าวไว้กิน
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลพวงจากราคาข้าวเปลือกเหนียวที่ปรับตัวขึ้นสูงถึงกิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ พบว่านอกจากจะทำให้ชาวนาที่เก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเพื่อรับประทานในครัวเรือน ต่างพากันนำข้าวเปลือกไปขายตามโรงสีและแหล่งรับซื้อทั่วไปอย่างคึกคัก มีรายได้เขาครัวเรือนในช่วงนี้เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ยังมีชาวนาอีกหลายราย ที่พลาดโอกาสนี้ เนื่องจากไม่มีข้าวเปลือกไปขาย เพราะขายไปหมดแล้วเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา
นายประภาษ ภูวงกต อายุ 66 ปี ชาวนาบ้านดงเมือง หมู่ 10 ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า มีพื้นที่ทำนา 18 ไร่ โดยปลูกข้าวเหนียวทั้งนาดำและนาหว่าน อาศัยน้ำฝนและน้ำจากคลองชลประทานเขื่อนลำปาว ทุกปีได้ผลผลิตไร่ละประมาณ 250 กก.ส่วนหนึ่งเก็บไว้กินในครัวเรือน ส่วนหนึ่งนำไปขายได้ราคากิโลกรัมละ 7-8 บาท มีรายได้ประมาณ 2 หมื่นบาท จะเป็นอย่างนี้ตลอดมาทุกๆ ปีที่ประกอบอาชีพทำนาตลอดช่วงชีวิต เพิ่งจะเป็นครั้งแรกที่ราคาข้าวเหนียวสูงถึงกิโลกรัมละ 20 บาทในช่วงนี้
...
ชาวนาบ้านดงเมือง กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเมื่อราคาข้าวเหนียวสูงเป็นประวัติการณ์ถึงกิโลกรัมละ 20 บาท ก็รู้สึกเสียดายเป็นอย่างมาก ที่ไม่มีข้าวเปลือกไปขายเหมือนเพื่อนบ้านที่มีข้าวเปลือกไปขาย โดยถือว่าเป็นโอกาสทองของชาวนาที่มีข้าวเปลือกไปขาย เป็นเรื่องดีที่จะมีรายได้ให้กับคนที่มีข้าวขาย แต่ในส่วนคนที่ซื้อข้าวกินก็อาจจะได้รับความเดือดร้อนจากภาวะที่ข้าวสารจะต้องปรับราคาขึ้นเป็นเงาตามตัว สำหรับตนเหลือข้าวเปลือกเหนียวในยุ้งฉางประมาณ 200 กิโลกรัมเท่านั้น เพราะจะเก็บไว้กินในครัวเรือน พอประคับประคองถึงฤดูเก็บเกี่ยวราวปลายเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
“เมื่อไม่มีข้าวเปลือกไปขายเหมือนเพื่อนบ้านบ้านตนก็ได้แต่รู้สึกเสียดาย เพราะเคยขายได้ราคาต่ำเพียงกิโลกรัมละ 7-8 บาทเท่านั้น พอเห็นเพื่อนบ้านขายได้ราคาสูงกิโลกรัมละ 20 บาทดังกล่าวก็รู้สึกดีใจด้วย ส่วนตนทุกวันนี้ก็ได้แต่เดินสำรวจแปลงนาข้าว ที่เคยเหี่ยวเฉาเพราะภาวะฝนทิ้งช่วง และน้ำชลประทานไม่เพียงพอ พอมีฝนตกลงมาก็เพิ่งจะฟื้นตัว แต่ผลผลิตคงจะได้น้อยลงประมาณ 70% อย่างไรก็ตามในส่วนของราคาข้าวก็อยากให้ยืนราคานี้ไปถึงช่วงเก็บเกี่ยว และหากได้ราคากิโลกรัมละ 20 บาท อย่างทุกวันนี้ จะแบ่งเก็บไว้กินนิดหน่อยพอคุ้มปี และส่วนใหญ่จะนำไปขาย เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ธ.ก.ส.” นายประภาษ กล่าว.