นิพิฏฐ์ รับเป็นทนายให้เรือฟีนิกซ์เข้าพบ ผบก.ภูเก็ตยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม หลังลูกความที่ถูกคุมขัง-ข่มขู่ให้รับสารภาพ เผยมีหลักฐานเด็ดถ้อยคำสนทนาระหว่างตำรวจกับพี่ชายลูกความ...

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 14 ส.ค.2561 ที่ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของผู้ประกอบการเรือฟินิกซ์ ซึ่งประสบอุบัติเหตุเรือล่มกลางทะเลอันดามัน ระหว่างเกาะราชากับเกาะเฮ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิต 47 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง พร้อมด้วย น.ส.นลิน อินทรสมบัติ ทนายความผู้ประกอบการเรือฟีนิกซ์เข้าพบ พล.ต.ต.ธีระพล ทิพย์เจริญ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต เพื่อยืนหนังสือขอความธรรม โดยขอให้มีการกำกับการทำคดีเรือฟีนิกซ์ดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากทราบมาว่ามีการข่มขู่ น.ส.วรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกานต์ อายุ 26 ปี กรรมการบริษัท ทีซีบลูดรีม จำกัด เจ้าของเรือฟีนิกซ์ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการคุมขังให้รับสารภาพหรือให้ซัดทอดบุคคลอื่น

นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดเรื่องขึ้น สาธารณะยังไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงในส่วนของบริษัทเจ้าของเรือมากนัก ซึ่งต้องการที่จะพูดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ แต่กลัวว่าจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งกังวลว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวและระบบเศรษฐกิจประเทศโดยรวม หวานอมขมกลืนกับเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอด และยอมรับการทำงานของพนักงานสอบสวนที่เดินหน้ามาตลอด แต่ท้ายที่สุดต้องออกมาบอกว่า ทางเจ้าของเรือ คือ น.ส.วรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกานต์ หรือน้องยุ้ย ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนมาโดยตลอด และในช่วงวันเกิดเหตุได้เข้าช่วยเหลือประสานงานในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ประสบเหตุด้วยตัวเอง และยังได้สนับสนุนอาหาร และน้ำดื่มให้กับอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ กระทั่งถูกแจ้งข้อกล่าวหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายแก่กาย อันตรายแก่กายสาหัส ซึ่งกังวลมาตั้งแต่วันนั้น หากเจ้าของเรือถูกตั้งข้อกล่าวหาทำการโดยประมาท เทียบกับกรณีของเจ๊เกียวที่เป็นเจ้าของบริษัทรถทัวร์ คงจะโดนข้อกล่าวหาทุกเดือน แต่กรณีคนขับรถทัวร์หรือคนขับเรือถูกตั้งข้อกล่าวว่าทำการโดยประมาทก็ว่าไป

...

“กรณีที่ตั้งข้อหาดังกล่าวกับน้องยุ้ยก็แปลกใจว่าใช้หลักฐานอะไร หากมีหลักฐานว่าเรือดัดแปลง แต่ขณะนี้เรือยังอยู่ใต้ทะเลยังไม่ได้กู้ขึ้นมา และไม่มีพนักงานสอบสวนคนใดดำลงไปดูสภาพเรือ จะมาตั้งข้อกล่าวหาได้อย่างไร การจับก่อนแล้วมาหาพยานหลักฐานภายหลัง เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนเมืองไทย ตั้งแต่เริ่มมีประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่ว่ากันในเรื่องประมาท และได้มีการคัดค้านการประกันตัว ซึ่งศาลไม่ให้ประกันตัว ซึ่งเคารพในการตัดสินของศาล แต่ท้ายสุดที่ต้องมาบอกความจริง โดยขอชื่นชม ผบก.ภ.จว.ภูเก็ตและตำรวจทุกนายที่ทำคดีประมาทอย่างตรงไปตรงมาและยุติธรรม” ที่ปรึกษากฎหมายของผู้ประกอบการเรือฟีนิกซ์ กล่าว

นายนิพิฏฐ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นกังวลและไม่สายใจ คือ การทำงานของตำรวจท่องเที่ยว เริ่มตั้งแต่การพยายามแจ้งข้อหานอมินี และที่ต้องออกมาพูด เพราะมีพนักงานสอบสวนที่มาจากตำรวจท่องเที่ยวเข้าไปพบน้องยุ้ยในเรือนจำ และบอกให้รับสารภาพว่าเป็นนอมินีของคนสัญชาติหนึ่ง หากไม่รับสารภาพจะดำเนินคดีกับแม่พ่อและพี่ชายของน้องยุ้ย แต่หากรับสารภาพจะไม่คัดค้านการประกันตัว จึงมองว่าวิธีการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะไปต่อรองหรือให้คำมั่นสัญญาไม่ได้ ต้องว่ากันตามผิดตามถูก เพราะเขามีลูกอยู่ 1 คนที่จะไปจับพ่อแม่และพี่ชายของเขามา แล้วลูกเขาจะอยู่กับใคร สุดท้ายน้องยุ้ยต้องรับสารภาพ เพื่อกันพ่อแม่และพี่ชายออกจากคดีนอมินี

จากพฤติการณ์ของตำรวจดังกล่าว ทำให้มีความพยายามปฏิรูปตำรวจให้แยกการสอบสวนออกจากการจับกุม ต่อจากนั้นพนักงานสอบสวนได้ติดต่อไปยังพี่ชายของน้องยุ้ย เพื่อให้มาแก้คำให้การ โดยบอกว่ายุ้ยรับสารภาพแล้วว่าเป็นนอมินี หากไม่มาแก้คำให้การจะจับกุมพี่ชายด้วย แต่โชคดีที่มีการอัดเทปการสนทนาดังกล่าวไว้ทั้งหมด มีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ และในระหว่างการสนทนา ได้มีการอ้างถึงรองผู้บัญชาการตำรวจท่านหนึ่งว่า เป็นเรื่องที่รองผู้บัญชาการคนดังกล่าวสั่งการ หากน้องยุ้ยรับสารภาพว่าเป็นนอมินี ผู้บริหารระดับสูงของตำรวจท่องเที่ยวจะให้ประกันตัว ซึ่งในส่วนของเสียงพูดคุยนั้น จะไม่นำมาเปิดเผยในชั้นนี้ และไม่ได้ต้องการเอาผิดใคร แต่อยากให้ดำเนินการทุกอย่างเป็นธรรม และหากยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจะมีการดำเนินการในการร้องต่อ ป.ป.ช.

“จากประเด็นดังกล่าว จึงได้มายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ตว่าสิ่งใดๆ ก็ตามที่เจ้าของเรือฟีนิกซ์ทำไป ให้ถือว่าเป็นโมฆะ นับตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.เป็นต้นไป น้องยุ้ยจะไม่ยอมให้การและให้ถ้อยคำใดๆ ต่อพนักงานสอบสวนทั้งสิ้น หากมีคำให้การหรือคำสอบเพิ่มเติม ถือว่าการสอบนั้นเป็นการสอบโดยไม่ชอบ เนื่องจากไม่มีทนายความอยู่ด้วย”

นายนิพิฏฐ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการต่อสู้คดีหลังจากนี้ จะไปขอดำเนินการไต่สวนต่อศาลว่า คำคัดค้านการประกันตัวของตำรวจไม่มีเหตุผล แต่ใช้เสรีภาพของผู้ต้องหาต่อรอง และใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการกักขังบุคคล ซึ่งจะมีการเดินทางไปยื่นต่อศาลและจะต่อสู้ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญและตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปส่วนเรื่องของเรือที่ไม่ได้มาตรฐาน ต้องไปตรวจสอบว่าผู้ที่ไปจดทะเบียนเป็นใคร ซึ่งต้องแยกให้ออกว่าเป็นความประมาทหรือเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งมีความมั่นใจว่าบริษัททำถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในช่วงวันที่เกิดเหตุนั้น ได้มีพายุลมแรงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเรือล่ม.

...