วิกฤตการณ์ครั้งแรก กรรเชียงปูม้าราคาขยับจากโลละ 800 เป็น 1,800 บาท ออเดอร์ไม่เพียงพอ ต้องสั่งซื้อจากบาห์เรน ขณะที่นักวิชาการท้องถิ่นทางทะเลฯ เผยเป็นผลพวงจากปริมาณประชากรปูลดน้อยลง

นายอิสมาแอน เบ็ญสะอาด นักวิชาการท้องถิ่น กรรมการชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ตอนนี้เป็นช่วงวิกฤติที่ต้องได้รับการแก้ไขเรื่องปูม้า ปีที่แล้วไม่เหมือนปีนี้ ราคาปูม้าปีที่แล้วเป็นเนื้อกรรเชียง ราคา 800 กว่าบาท ปีนี้มากกว่านั้นเป็นเท่าตัว ตนมองปูม้าทั้งทะเลฝั่งอันดามัน และอ่าวไทยเริ่มลดลง เราต้องนำเข้าปูม้าจากประเทศมาเลเซีย และจากประเทศบาห์เรน ซึ่งเมื่อก่อนเราไม่เคยนำเข้า

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์นี้เราไม่เคยมี เรามีแต่ส่งออก ปีนี้นำเข้า ผมมองหลักๆ ก็คือปริมาณสัตว์น้ำลดลงจากอัตราการจับ ปริมาณสัตว์น้ำลดลงมันต้องมองหลายปัจจัย ฝ่ายวิชาการต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม รัฐบาลเองจะต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะปริมาณของสัตว์ทะเลโดยเฉพาะปูม้าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ เราไม่เคยนำเข้าปูม้าจากต่างประเทศ เรามีแต่นำเข้าน้ำมัน แต่วันนี้เราต้องนำเข้าปูม้าจากประเทศอาหรับ ซึ่งมันเป็นอะไรที่มันแปลก ในขณะที่ทะเลของเราทั้ง 2 ฝั่งมีความอุดมสมบูรณ์ จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่าง จ.ภูเก็ต ต้องมาซื้อปูม้าบ้านเรา ในขณะที่บ้านเราเมื่อก่อนราคาแค่ 800 กว่าบาท ตอนนี้ขยับราคาเป็น 1,500-1,800 ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกมาก



...

นางบุญน้อม บ่อน้ำร้อน อายุ 48 ปี ผู้รับจ้างแกะเนื้อปูม้า บอกว่า พวกตนและเพื่อนบ้านปกติจะประกอบอาชีพกรีดยางพาราเป็นหลัก แต่ช่วงนี้ราคาตกต่ำจึงชักชวนกันมารับจ้างแกะเนื้อปู แต่ปูมีไม่ค่อยมากต้องรอในช่วงหน้ามรสุม

โดยทางแพปลาจะจ้างเหมาในราคากิโลกรัมละ 50 บาท สร้างรายได้พออยู่พอกิน 250-300 บาทต่อวัน ซึ่งก็อยู่กับปริมาณของปูในแต่ละวันว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งปูขนาดใหญ่และเนื้อกรรเชียงมีหลายเกรดจะถูกส่งไปยังร้านอาหาร หรือภัตตาคาร ตามที่ลูกค้าสั่งมาทั้งในและต่างจังหวัด



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ชาวประมงพื้นบ้านริมชายฝั่ง ม.บ้านน้ำราบ ม.4 ต.บางสัก ต่างพากันซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือประมงอวนดักไซปู เตรียมออกทะเลในช่วงมรสุมเพราะจะมีปูม้าชุกชุม มีรายได้ดีตกลำละกว่า 1,000 บาท แต่ก็เป็นปัญหาฝนตกหนักและคลื่นลมแรงออกเรือไม่ได้.