ขอนแก่น ประสบภัยแล้งหนัก ข้าวผลผลิตน้อย ธ.ก.ส.ขอนแก่น ยืดเวลาชำระหนี้ให้ชาวนากว่า 50,000 ราย ต่อไปอีก 2 ปี พร้อมชู 4 มาตรการเร่งด่วนให้ความช่วยเหลือลูกค้าธนาคาร หลังทางการสั่งงดทำนาปรังเด็ดขาด
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 15 ม.ค. 59 ที่ สำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาขอนแก่น นายธนู โตสัจจะ ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.สาขาขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า สถานการณ์ภัยแล้งในภาพรวมของ จ.ขอนแก่น เข้าสู่ภาวะวิกฤติ หลังฝนทิ้งช่วงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำเหลือเพียง 139 ล้าน ลบ.ม. ในปริมาณนี้ เขื่อนสามารถปล่อยน้ำเพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติ และหล่อเลี้ยงพื้นที่ชลประทานและการเกษตรได้เพียงวันละ 5 แสน ลบ.ม.เท่านั้น ทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรอย่างหนัก โดยเฉพาะในเขตชลประทาน ซึ่งจังหวัดได้ประกาศให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวงดการทำนาปรังโดยเด็ดขาดในปีนี้
ส่วนข้าวในฤดูนาปี 2558/59 ขณะนี้เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว แต่จากการสำรวจพบว่า มีผลผลิตที่ลดน้อยลง รวมทั้งการชำระหนี้ของเกษตรกรก็ประสบปัญหา เนื่องจากการจำหน่ายผลผลิตลดลง โดยเฉพาะข้าว ทำให้ ธ.ก.ส. กำหนดนโยบายการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในฤดูการผลิต 2558/59 พื้นที่ประสบภัยแล้ง 18 อำเภอ เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยให้ชำระแต่ดอกเบี้ยเท่านั้น มีเกษตรกรที่จะถูกพักชำระหนี้ในปีนี้ รวม 52,175 ราย วงเงินรวม 6,909 ล้านบาท ใน 76,296 สัญญาเงินกู้
...
“ธ.ก.ส. ได้กำหนดนโยบายในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว แบ่งออกเป็น 4 มาตรการหลัก ที่ได้ทำทันทีในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เริ่มจากการพักชำระหนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ที่ประสบภัย มาตรการปรับปรุงระบบการผลิตภาคการเกษตร วงเงินกู้รายละ 100,000 บาท ระยะเวลาในการผ่อนชำระสูงสุด 12 ปี ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวนี้ ได้รับความสนใจจากเกษตรกรอย่างมาก ในการนำไปพัฒนาระบบการผลิตภาคการเกษตร โดยเฉพาะการซื้อเครื่องสูบน้ำและขุดบ่อบาดาล ต่อด้วยมาตรการการสร้างงาน และสร้างอาชีพให้กับเกษตรกร ด้วยวงเงินสินเชื่อรายละ 50,000 บาท ในการประกอบอาชีพเสริมในช่วงสิ้นสุดฤดูกาลผลิต และมาตรการสุดท้าย คือการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจชุมชน, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสินค้าโอทอป ที่มีอยู่กว่า 3,000 แห่งในจังหวัด ได้รับการพัฒนาและยกระดับสินค้าจนกลายเป็นรายได้หลักควบคู่ไปกับการทำการเกษตรเดิมที่มีอยู่แล้ว”
นายธนู กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการประกาศบังคับปลูกข้าวนาปรัง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก โดยบางส่วนหันไปปลูกผักและผลไม้ตามฤดูกาลแทน แต่ยังคงมีพื้นที่นาว่างเปล่าอีกจำนวนมาก ซึ่งได้กำชับให้ ธ.ก.ส. ทั้ง 26 อำเภอ เร่งลงพื้นที่สำรวจ และทำความเข้าใจในการปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพด ตามความต้องการของตลาดภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งมีเกษตรกรขอรับบริการสินเชื่อเพื่อดำเนินการตามโครงการจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ยังคงให้เกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยที่เข้าร่วมโครงการประกันราคาข้าวในปีการผลิต 58/59 รวมทั้งหมด 158,000 ไร่ เร่งมาขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจาก ธ.ก.ส. เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่อีกด้วย.