รองผู้ว่าฯ นครพนม ยันไม่ได้นิ่งนอนใจ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง "ปลัดอำเภอท่าอุเทน" ขาดราชการ และกลับมาทำงานหลังคดีตากใบหมดอายุความ

วันที่ 29 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางลณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จากกรณีมีปลัดอำเภอท่าอุเทน มีชื่อในหมายจับ คดีตากใบ ถึงแม้จะหมดอายุความในคดีอาญา เนื่องจากหมายจับคดีอาญา แจ้งมาทางจังหวัดนครพนม และประสานไปยังอำเภอท่าอุเทน ต้นสังกัด แต่เจ้าตัวไม่มาทำงาน จึงไม่เจอตัว และมีรายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า มารายงานตัวทำงาน เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 หลังคดีความหมดอายุ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา 

แต่ในส่วนระเบียบทางราชการ ต้องมีการตรวจสอบ พร้อมได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย เพื่อตรวจสอบเอาผิดในส่วนของการขาดราชการ โดยผลอย่างไรต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสอบสวน ลงความเห็น มีทั้งโทษความผิดวินัยร้ายแรง หากขาดราชการเกิน 15 วัน แต่หากไม่เกิน จะเป็นโทษ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ ลดขั้นเงินเดือน ขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน ยืนยัน ทางจังหวัดนครพนม ไม่ได้ละเลย พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการด้วย

ส่วนคดีดังกล่าว ทราบว่า เกิดขึ้นในช่วงปลัดอำเภอนายนี้ รับราชการเป็นทหารเรือ ทำงานในพื้นที่ จ.นราธิวาส ภายหลังมีการสอบโอนย้าย มาสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และทำงานในพื้นที่ของ จ.นครพนม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบข้อมูล ทราบชื่อปลัด ที่มีชื่อในหมายจับคดีตากใบ คือ นายวิษณุ เลิศสงคราม อายุ 45 ปี ปัจจุบันมีตำแหน่งปลัดชำนาญการ ฝ่ายความมั่นคง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เดิมรับราชการทหารเรือมาก่อน ในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ภายหลังได้มีการสอบโอนย้าย มารับราชการตำแหน่งปลัดอำเภอ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และเคยมาทำงานในพื้นที่หลายอำเภอของ จ.นครพนม

...

จนกระทั่งล่าสุด เมื่อเดือน สิงหาคม 2567 ย้ายมาสังกัด อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ก่อนเกิดเหตุมีหมายจับคดีอาญา ทราบว่า มีการยื่นลาพักผ่อน ตั้งแต่วันที่ 15-18 ตุลาคม 2567 ก่อนมีการออกหมายจับ โดยทางหน่วยงานตำรวจ ประสานทางจังหวัดนครพนม มีการแจ้งมาทาง อ.ท่าอุเทน ภายหลัง ในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 จนกระทั่ง นายอำเภอท่าอุเทน ทราบข้อมูล จึงยกเลิกคำสั่งลาพักผ่อน พร้อมให้มารายงานตัว วันที่ 17 ตุลาคม 2567 แต่ไม่พบว่ามีรายงานตัว จนกระทั่งวันที่ 28 ตุลาคม 2567 มีการมารายงานตัวทำงาน โดยรับผิดชอบงานด้านความมั่นคง เกี่ยวกับการป้องกันปัญหายาเสพติด ส่วนใหญ่จะลงพื้นที่ชุมชน และพบปะชาวบ้าน ตามแนวชายแดน เป็นหลัก

ทางอำเภอท่าอุเทน จึงได้มีบันทึกเสนอต่อจังหวัดนครพนม ว่าขาดราชการประมาณ 6 วัน เพื่อสอบสวนเอาผิดทางวินัย ตามขั้นตอน สำหรับหมายจับคดีตากใบ หมดอายุความตั้งแต่ 25 ตุลาคม 2567 จึงไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้ เหลือเพียงการสอบสวนทางวินัย ปัญหาขาดราชการ แต่ไม่ถึงขั้นร้ายแรง คือต้องเกิน 15 วัน.