"ผับดังอุดรธานี" ปิดกะทันหันไม่มีกำหนด ทำพนักงานร้อยกว่าชีวิต ตกงานกะทันหัน ด้าน "ทนายโนบิ" พาร้องศูนย์ดำรงธรรม จี้นายจ้างมาพูดคุยหาแนวทางออกร่วมกัน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 29 ส.ค. 2567 นายกฤษฎา โลหิตดี หรือ ทนายโนบิ มาพร้อม นายภาณุมาศ จิตรวศินกุล หรือ เฮียเปี๊ยกช่วยด้วย และทีมทนายความ ได้นำพนักงานผับดังแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครอุดรธานีประมาณ 50 คน เดินทางมาศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เพื่อเข้าร้องเรียนต่อ นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผ่านศูนย์ดำรงธรรม จ.อุดรธานี

ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้ผับแห่งหนึ่งในตัวเมืองอุดรธานี ที่ปิดร้านกะทันหันและไม่มีกำหนด เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยไม่แจ้งพนักงานนั้น ให้ออกมาจ่ายเงินเดือนที่ยังค้างจ่าย, เงินชดเชย เพราะพนักงานได้รับผลกระทบตกงานไม่รู้ตัวตามสิทธิกฎหมายแรงงาน เพราะทุกคนมีค่าใช้จ่ายในการดูแลครอบครัว เพื่อให้ศูนย์ดำรงธรรม ช่วยไกล่เกลี่ยกับเจ้าของผับให้ โดยมี น.ส.รัชดาพร เมืองเก่า นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานศูนย์ดำรงธรรม จ.อุดรธานี และ น.ส.สุพัตรา แก้วอุดม นิติกรปฏิบัติการ สนง.สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานี เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียน แล้วชี้แจงกับพนักงานถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ หลังถูกเลิกจ้าง

น.ส.สุพัตรา แก้วอุดม นิติกรปฏิบัติการ สนง.สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานี กล่าวว่า กรณีนายจ้างปิดกิจการ ลูกจ้างที่ทำงาน 120 วันขึ้นไป ในส่วนเงินค่าชดเชยก็จะได้ตามอายุงาน ในกรณีที่นายจ้างไม่ได้แจ้งล่วงหน้า สิทธิก็จะเป็นการจ่ายค่าชดเชยในการบอกกล่าวล่วงหน้า คือจะเกิดสิทธิตรงนี้ ในข้อเท็จจริงหากมีการเลิกจ้างแล้วไม่ได้รับค่าชดเชยการบอกกล่าวล่วงหน้า หรืออย่างอื่นที่นายจ้างยังไม่ได้จ่าย เมื่อถึงกำหนดจ่าย ลูกจ้างก็สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องได้ ที่สำนักสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน

...

ทางด้าน นายกฤษฎา หรือ ทนายโนบิ เผยว่า มีพนักงานผับดังแห่งหนึ่งใน จ.อุดรธานี ได้มาร้องขอให้ตนและเฮียเปี๊ยก เข้ามาช่วยดูว่ามีการสั่งปิดร้านกะทันหัน การปิดร้านลักษณะไม่มีกำหนด มันทำให้พนักงานร้อยกว่าชีวิตได้รับผลกระทบ วันนี้ตนและทีมทนายความได้พาพนักงานส่วนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทน มายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุดรธานี ผ่านท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี

ทั้งนี้ เพื่อให้ท่านผู้ว่าฯ ได้โปรดเรียกเจ้าของผับมาคุยว่าจะเอาอย่างไรกับพนักงานร้อยกว่าชีวิต พวกคุณกับหุ้นส่วนจะทะเลาะกันอย่างไรก็ตาม มันเป็นเรื่องของพวกคุณ แต่พนักงานทุกคนมีครอบครัว มีพ่อแม่ลูก เขาต้องได้รับเงิน ถ้าหากพวกคุณจะไปฟ้องร้องอะไรกัน มันเป็นสิทธิ์ของพวกคุณ แต่พนักงานต้องได้รับค่าชดเชย

การที่วันนี้คุณสั่งหยุดงานกะทันหัน พนักงานต้องได้รับเงินเดือน ได้รับเงินค่าทดแทน ไม่เช่นนั้นคุณจะต้องเปิดร้าน เปิดกิจการต่อให้พวกเขากลับไปทำงาน ส่วนเรื่องคดีความพวกคุณก็ไปว่ากันในศาล ตนได้ประสานกับทางศูนย์ดำรงธรรม ทำหนังสือเชิญคู่กรณีคือนายจ้างมาพูดคุยหาแนวทางออกร่วมกัน ว่าจะทำอย่างไร จะจ้างต่อ เปิดกิจการต่อหรือไม่ หรือปิดถาวรไปเลย ถ้าปิดถาวรก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ให้พวกเขามีเวลาตั้งตัวไปหางานใหม่

ในส่วนพนักงานต้องดูอายุงานของแต่ละคน กฎหมายจะกำหนดว่าการทำงานมาได้ค่าชดเชยเท่าไหร่ กี่วัน แต่ละคนมีระยะเวลาทำงานแตกต่างกัน แต่การเลิกจ้างกะทันหัน ทางบริษัทหรือนายจ้างต้องมีการจ่ายค่าชดเชยแทนการเลิกจ้าง อย่างน้อยต้องมีการจ่ายให้ แต่ไม่มีเลยแถมบอกให้พวกเขาไปหางานใหม่ได้เลย ไม่ถูกต้อง

ขณะที่ นางเมตตา คชพล อายุ 42 ปี แม่ครัว เล่าว่า ทำงานที่ผับนี้มา 2 ปี เป็นแผนกทอดในครัว เงินเดือน 13,500 บาท แต่ร้านมาปิดไม่รู้กะทันหัน ไม่แจ้งเหตุผลว่าปิดเพราะอะไร ไม่แจ้งล่วงหน้า และไม่มีกำหนดเปิด เราขาดรายได้ แต่มีการประชุมตอนเย็นว่าให้ปิดร้าน พนักงานคนไหนไม่มีงานทำ ให้ไปหางานก่อน ไม่มีกำหนดที่จะเปิดร้าน ตนได้รับผลกระทบเพราะลูกยังเล็กอายุ 1 ขวบ ยังกินนมและเช่าบ้านอยู่ ตอนนี้แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย หายืมเงินก็ไม่มี หนทางตันหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม อยากให้ร้านเยียวยาพนักงานที่ต้องหยุดทำงานไม่มีกำหนด ตนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและเป็นเสาหลักของครอบครัว ต้องส่งเงินให้พ่อแม่ที่แก่ชรา ส่วนคนที่เลี้ยงลูกให้ก็เป็นคนขาพิการ อยากฝากถึงนายจ้างให้กลับมาเปิดร้าน ถ้านายจ้างทะเลาะกันก็ให้อยู่ข้างหลัง ตนอยากมีงานทำเพราะต้องเลี้ยงครอบครัว.