ชาวบ้านร้องสื่อ จี้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างซ่อมแซมถนน โครงการลงหินคลุก งบกว่า 4.6 แสนบาท แต่คุณภาพย่ำแย่-ไม่สมราคา
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 67 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านยาง หมู่ 4 ต.กังแอน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ว่า มีการก่อสร้างถนนตามโครงการลงหินคลุก (คุ้มโสน) พร้อมเกลี่ยบดอัดเรียบ ปรับความกว้างเฉลี่ย 4 เมตร ยาวเฉลี่ย 2,265 เมตร หรือมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 9,060 ตารางเมตร พร้อมลงหินคลุกเกลี่ยบดอัดด้วยเครื่องจักรกล 60% ยาวเฉลี่ย 2,265 เมตร กว้างเฉลี่ย 4 เมตร หนาเฉลี่ย 0.05 เมตร งบประมาณ 466,500 บาท วันเริ่มต้นสัญญา 3 กรกฎาคม 2567 วันสิ้นสุดสัญญาวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ผู้รับจ้าง หจก.แห่งหนึ่ง ซึ่งถนนดังกล่าว เป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาในการทำนา ทำสวน และทำไร่ พร้อมทั้งยังสัญจรไประหว่างหมู่บ้าน แต่การก่อสร้างกลับไม่ได้คุณภาพตามงบประมาณที่กำหนด จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ
ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบถนนดังกล่าว พร้อม นายสงัด มณีรัตน์ อายุ 62 ปี ตัวแทนชาวบ้าน พบว่าถนนเส้นดังกล่าวบริเวณ 2 ข้างทางเป็นที่นาและไร่ยางของชาวบ้าน มีการเทหินคลุกตลอดเส้นทางยาว แต่เมื่อชาวบ้านสังเกตความหนาของหินคลุกที่บดอัด พบว่ามีความหนาไม่ถึงมาตรฐาน ตามหลักต้องหนาไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร ทั้งนี้จากการตรวจสอบไปจนสุดเส้นทาง พบว่ามีการเทหินคลุกค่อนข้างบางมาก
...
โดย นายสงัด ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า วันนี้เรามาตรวจสอบถนนเส้นดังกล่าว เป็นการลงหินคลุกที่ไม่ได้มาตรฐาน ความหนาของหินไม่ได้ตามจำนวนมาตรฐาน ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความเดือดร้อน เพราะใช้เส้นทางนี้บ่อย ถนนไม่ได้มาตรฐานแต่ใช้งบประมาณเยอะ ใช้หินคลุกน้อยความหนาก็น้อย วัดได้ยังไม่ถึง 5 เซนติเมตร ทั้งที่ตามแบบกำหนดหนาเฉลี่ย 5 เซนติเมตร อยากให้ทำให้ดีกว่านี้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาตรวจสอบเรื่องนี้ให้เร็ว ไม่ว่าจะเป็น สตง. หรือ ป.ป.ช. ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านมักใช้ถนนเส้นนี้ เดินทางไปทำนาและทำสวน
"จึงอยากฝากผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ เรื่องนี้ชาวบ้านทุกคนกินข้าวเป็นอาหาร รู้เห็นว่าใครทำอะไร ถ้าทำคุณภาพเกินครึ่งจากงบประมาณก็ไม่เป็นไร แต่จากที่เห็นอยู่ไม่รู้ว่าถึงครึ่งของงบประมาณหรือเปล่า ตนไม่ได้ต้องการจะเข้าข้างใคร แต่ยึดตามความจริง ตนเป็นเพียงตัวแทนชาวบ้านเท่านั้น ถ้าจะลงหินคลุกก็อยากให้ทำให้ดี เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของชาวบ้าน เพราะในอนาคตอาจจะต้องพังอีก ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทำให้ดีกว่านี้ ทำเป็นถนนคอนกรีตเลยก็ดี ชาวบ้านจะได้รับผลประโยชน์นานๆ ไม่ต้องมาของบประมาณใหม่เพื่อซ่อมแซมอีก" ตัวแทนชาวบ้าน กล่าว