“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” บ้านผือ อุดรธานี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโก เผยมีความโดดเด่นในการอนุรักษ์กลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดีที่มีจำนวนมากและเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก และเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสี (พระป่า) เปิดอุทยานฯ เฉลิมฉลองวันที่ 28 ก.ค.-12 ส.ค.นี้

ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ 27 ก.ค. มีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 มีวาระการพิจารณาอุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ. อุดรธานี ภายใต้ ชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” เข้าสู่การพิจารณาเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี 2567 ซึ่งประเทศไทยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยพร้อมด้วย น.ส.ขนิษฐา โชติกวณิชย์ รองอธิบดีกรมศิลปากรและนายบวรเวท รุ่งรุจี อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและนายกสมาคมอิโคโมสไทย ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลกเข้าร่วม

ขณะที่ประเทศไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมศิลปากรได้จัดเตรียมแถลงข่าวการประกาศขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลกที่ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมีการเปิดการถ่ายทอดสดให้ได้ลุ้นไปพร้อมๆกัน โดยบรรยากาศก่อนการแถลงข่าวเป็นไปอย่างคึกคักมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นำโดย น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒธรรมและผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำโดยนายรชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วย รมว.ทส.ตลอดจนคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้สื่อข่าวมาร่วมชมการถ่ายทอดสดเต็มห้องแถลงข่าว

...

จนกระทั่งเวลา 13.00 น. เวลาอันสุดระทึกมาถึง เมื่อคณะกรรมการมรดกโลกประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ท่ามกลางเสียงเฮและเสียงปรบมือจากผู้ร่วมงานดังกึกก้อง ซึ่งต่างแสดงความชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของประเทศไทยในครั้งนี้ โดยถือเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี

น.ส.สุดาวรรณกล่าวว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกภายใต้คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรม สีมาหินสมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมของการสืบทอดของวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่าสี่ศตวรรษ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสีในเวลาต่อมาประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกห่างจาก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) อันโดดเด่นที่สุดของโลก ตามเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ข้อที่ 3 คือสามารถอนุรักษ์กลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดีที่มีจำนวนมากและเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยใบเสมาดังกล่าวมีความสมบูรณ์และยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งเดิม แสดงถึงวิวัฒนาการที่ชัดเจนของรูปแบบและศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

น.ส.สุดาวรรณกล่าวอีกว่าและเกณฑ์ข้อที่ 5 ภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาและยังคงความสำคัญของกลุ่มใบเสมาหิน โดยความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเพณีสงฆ์ในฝ่ายอรัญวาสี (พระป่า) ภูพระบาทจึงเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอด รักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรมของอรัญวาสีมาถึงปัจจุบัน

“ขอเชิญชวนให้ชาวไทยทั่วประเทศร่วมแสดงความยินดี และเฉลิมฉลองในโอกาสที่ภูพระบาทได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย ในส่วน วธ.จะพยายามผลักดันให้เกิดแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี ระหว่างวันที่ 28 ก.ค.-12 ส.ค. เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เข้าชมและร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกในครั้งนี้” รมว.วัฒนธรรมกล่าว

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานบรรยากาศที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-31 ก.ค.2567 ณ ศูนย์ประชุมภารัต มันดาปัม กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความร่วมมือในการอนุรักษ์และปกป้องวัฒนธรรม ธรรมชาติและมรดกโลกร่วมกันและยังมีการประชุมว่าด้วยการพิจารณาอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยนายวิชาล วี.ชาร์มา ประธานคณะกรรมการมรดกโลก ได้สอบถามในที่ประชุมดังกล่าวว่า มีใครต้องการคัดค้านการขึ้นทะเบียน “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sima stone tradition of the Dvaravati period) เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือไม่ แต่ที่ประชุมกลับเงียบเสียงไปชั่วครู่และไม่มีฝ่ายใดคัดค้าน สรุปได้ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ หลังจากนั้น นายวี.ชาร์มาจึงเคาะค้อนให้สัญญาณอนุมัติการขึ้นทะเบียนภูพระบาทฯ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม พร้อมกล่าวแสดงความยินดีเป็นภาษาไทยว่า “ขอแสดงความยินดีที่คุณลงทะเบียน” เรียกเสียงปรบมือ สร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความคึกคักและความยินดีทั่วห้องประชุม

...

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย แถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ผ่านระบบวีดิทัศน์ แสดงความขอบคุณที่ทางคณะกรรมการพิจารณาขึ้นทะเบียนให้อุทยานแห่งชาติภูพระบาท เป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี” ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย ในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกครั้งนี้ อีกทั้งยังนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไปในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู รวมทั้งปกป้องแหล่งมรดกโลกในทุกระดับ รวมถึงช่วยยกระดับการมีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยทางวิชาการเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ และหวังว่าจะได้ต้อนรับทุกคนที่เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อเยี่ยมชมแหล่งมรดกโลกลำดับล่าสุดอย่างภูพระบาทฯเช่นกัน

ส่วนที่ จ.อุดรธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ที่นำคณะมาร่วมลุ้นการประกาศขึ้นทะเบียน “ภูพระบาท” เป็นมรดกโลก ที่มีการถ่ายทอดขึ้นจอแอลซีดีขนาดใหญ่อยู่ที่บริเวณลานหน้าอาคารโบราณสถาน “ราชินูทิศ” พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีก็ใช้ไม้รัวตีกลองกริ่ง หลังมีการประกาศ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว และผู้มาร่วมงานได้โบกธง ไชโยโห่ร้องด้วยความดีใจ ขณะที่ประชาชนและนางรำได้ร่วมกันออกมาฟ้อนรำไปรอบๆ และถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก

...

ทั้งนี้ นายวันชัยกล่าวว่า ในนามประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานี ขอขอบคุณคณะกรรมการมรดกโลก และองค์กรที่ปรึกษาอย่างยิ่ง ที่เล็งเห็นคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และมีมติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในวันนี้ ขอบคุณหน่วยงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่ร่วมผลักด้นและส่งเสริมให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” ซึ่งชาวจังหวัดอุดรธานีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภูพระบาทได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี โดยแห่งแรกคือแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง อ.หนองหาน การขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและรักษาสถานที่อันทรงคุณค่าแห่งนี้ ให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ เป็นสมบัติอันล้ำค่าไม่เพียงแต่ต่อคนทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังเพื่อคนรุ่นหลังต่อไป ชาวจังหวัดอุดรธานีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ต้อนรับทุกท่านในการเยี่ยมเยือนแหล่งมรดกโลกภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี จังหวัดเดียว เที่ยว 2 มรดกโลก

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่