ชาวบ้านร้อง โรงงานผลิตปลาร้าชื่อดัง ส่งกลิ่นเหม็น ปล่อยน้ำเสีย รบกวนมาร่วม 7 ปี ไม่มีการแก้ไขที่ยั่งยืน หลังร้องเรียนไปหลายครั้ง ด้านโรงงานยืนยัน แก้ไขตามข้อร้องเรียน ครบวงจรจะเสร็จในสิ้นปีนี้


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปพบกับ นายจตุพล ปะกาวะรัง อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 77 ม.10 บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งร้องเรียนให้สื่อมวลชน ช่วยเหลือตรวจสอบการปรับปรุงแก้ไขของโรงงานผลิตน้ำปลาร้า จำนวน 2 โรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนมานาน 7 ปี ร้องเรียนไปทุกหน่วยงาน แต่ไม่มีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน


นายจตุพล เปิดเผยว่า การร้องเรียครั้งนี้เนื่องจากว่าโรงงานผลิตน้ำปลาร้า 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพียงแค่ใช้คนละชื่อ ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เปิดเป็นบริษัทและผลิตน้ำปลาร้าสำเร็จรูปขายจนมีชื่อเสียงโด่งดัง และส่งขายทั้งในและต่างประเทศ แต่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560-2562 ได้ร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง ขยะ และน้ำเสีย ซึ่งในเรื่องของฝุ่นละอองนั้นได้รับการแก้ไขโดยมีการทำถนน คสล.ขึ้นมาแทนถนนเดิม ฝุ่นละอองก็หายไป เรื่องขยะทางโรงงานแจ้งว่าได้จ้างบริษัทจัดเก็บขยะมาเก็บขยะของโรงงานไปทำลาย ส่วนเรื่องน้ำเสียทางโรงงานรับปากว่าจะทำบ่อบำบัดให้ถูกสุขลักษณะ ส่วนเรื่องกลิ่นยังเป็นปัญหายาวนานมาอย่างต่อเนื่อง


ในเดือนตุลาคม 2565 ได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 ให้มาตรวจสอบเรื่องกลิ่นของโรงงานทั้ง 2 แห่ง หลังการร้องเรียน เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมภาค 10 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่จาก สสจ.ขอนแก่น และกรมอนามัย และ อบต.บ้านดง ร่วมกันลงพื้นที่มาตรวจสอบ ภายหลังการตรวจสอบเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 แจ้งว่า โรงงานเปิดโดยไม่ได้ขออนุญาตให้ถูกต้อง ทางด้านอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นก็มีการสั่งปรับกับทางโรงงาน และสั่งให้โรงงานสั่งปิดกิจการจำนวน 30 วัน เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง

...


นายจตุพล กล่าวอีกว่า ตนและชาวบ้านก็ปล่อยให้โรงงานดำเนินการตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ และทำให้ถูกต้อง เพราะคาดว่าจะไม่ต้องทนกับการเหม็นกลิ่นปลาร้าอีก แต่เรื่องยังไม่จบ ปลายปี 2565 และปี 2566 กลิ่นเหม็นยังเหมือนเดิม แถมด้วยมีน้ำเสียจากโรงงานยังไหลลงไปยังหนองน้ำในที่ดินของชาวบ้าน และส่งกลิ่นเหม็น โดยเฉพาะหน้าร้อนกลิ่นจะแรงกว่าปกติ ถ้าหน้าฝนกลิ่นจะมีน้อย จึงไปบอกเจ้าของโรงงานให้รับรู้เพื่อแก้ไข


ต่อมาต้นปี 2567 เรื่องกลิ่นยังคงส่งกลิ่นเหม็นเหมือนเดิม ซึ่งทราบมาว่าในโรงงานจะทำการต้มน้ำปลาร้าในช่วงเวลา 04.00-09.00 น. และเวลา 16.00-19.00 น. จะเปิดหม้อเพื่อปรุงรสน้ำปลาร้า เวลา 22.00-24.00 น. เปิดปลาร้าโหน่งเอาไปใส่หม้อต้ม ซึ่งช่วงเวลาที่โรงงานดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ นั้นจะมีกลิ่นโชยออกมาตามสายลม เหม็นคลุ้งไปทั่ว จึงได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น ซึ่งต่อมามี รองผู้ว่าฯ ขอนแก่น ทราบเรื่องและเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเรียกเจ้าของโรงงานผลิตน้ำปลาร้ามาร่วมพูดคุยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยทางจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งให้โรงงานทั้ง 2 แห่งดำเนินการแก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ โดยให้ศูนย์ดำรงธรรมอำเภออุบลรัตน์ ควบคุมดูแลการแก้ไข


เดือนมิถุนายน 2567 โรงงานแห่งแรกได้แจ้งมาว่า ทางโรงงานได้ปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนโรงงานแห่งที่ 2 แจ้งมาเช่นกันว่าอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ในฐานะที่ตนเป็นตัวแทนของชาวบ้านที่ดำเนินการร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน บอกเลยว่ายังไม่เห็นการแก้ไขที่ยั่งยืน เพราะที่ผ่านมาเหมือนว่าถูกตำหนิตรงไหนก็แก้ไขตรงนั้น แต่ไม่มีการแก้ไขทั้งระบบ ถ้าโรงงานจริงใจกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบโรงงาน น่าจะมีการคิดให้รอบคอบมาก่อนจะตั้งโรงงาน แต่นี่ตั้งโรงงานผลินสินค้าออกจำหน่ายจนร่ำรวย ขยายโรงงานเรื่อยๆ แต่ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องกลิ่น


“ที่ผ่านมา 7 ปี ชาวบ้านให้เวลา ให้โอกาสกับโรงงานทั้ง 2 แห่งแก้ไขมาเรื่อยๆ แต่เหมือนทางโรงงานจะไม่ใส่ใจ เพราะถ้าใส่ใจแก้ไขเรื่องกลิ่นเหม็น ก็คงไม่ต้องเรียกร้อง ร้องเรียนกันยาวนานเช่นนี้ จึงมีความเห็นว่า หากไม่มีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมที่ยั่งยืน ชาวบ้านก็ไม่เอาโรงงาน และขอให้เจ้าของโรงงานย้ายโรงงานไปผลิตน้ำปลาร้าที่อื่น”

...


ในขณะเดียวกัน นางคำพิง จันทร์โสม อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 43 ม.10 บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ชาวบ้านอีกคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นของโรงงานที่ทำการต้มน้ำปลาร้า ว่า ทนเหม็นกลิ่นปลาร้ามานานหลายปี แจ้งกับผู้นำชุมชน และ อบต.ก็หลายครั้ง แจ้งกับเจ้าของโรงงานก็บ่อย แต่ไม่มีการแก้ไข มิหนำซ้ำโรงงานแห่งแรกยังปล่อยน้ำเสียลงในบ่อน้ำจนไม่สามารถใช้น้ำทำการเกษตรได้ อีกเรื่องที่ไม่ชอบใจคือเรื่องที่เจ้าของโรงงานเอารายชื่อชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมหมู่บ้านไปปลอมแปลงเป็นการประชุมประชาพิจารณ์ ชาวบ้านลงชื่อเห็นชอบให้เปิดโรงงานได้ ซึ่งในความจริงแล้วชาวบ้านที่ลงชื่อนั้นเขาลงชื่อในขณะเข้าร่วมประชุมหมู่บ้าน ไม่ใช่ลงชื่อเห็นชอบให้เปิดโรงงาน จึงมองว่าโรงงานทำไม่ถูกต้อง 


“จริงอยู่โรงงานจ้างลูกหลานของชาวบ้านทำงานในโรงงาน แต่เรื่องกลิ่นก็ต้องแยกแยะและจัดการให้มันหายไป เด็กเล็ก คนแก่ เขาร้องเรียนไม่ได้ ก็ต้องทนดมกลิ่นกันในทุกๆ วัน จึงอยากให้โรงงานเห็นใจ ช่วยแก้ไขเรื่องกลิ่นเหม็นให้ยั่งยืนด้วย”

...


ต่อมาผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังโรงงานแห่งที่ 1 พบกับลูกชายเจ้าของโรงงาน และผู้จัดการโรงงาน กล่าวว่า โรงงานแก้ไขปัญหาตามคำร้องเรียนของชาวบ้านในทุกกรณีเรียบร้อยแล้ว และรายงานไปยัง อบต.บ้านดง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่โรงงานแห่งที่ 2 พบกับ นายทัย ใจสะอาด ผู้จัดการโรงงาน พาผู้สื่อข่าวเดินดูจุดที่เป็นบ่อบำบัดนำเสียในโรงงาน ซึ่งมีทั้งหมด 4 บ่อ เป็นบ่อเกรอะ และบ่อน้ำที่ทำการบำบัดที่ได้มีการเลี้ยงปลาในบ่อ และนำน้ำไปรดต้นไม้ได้


นายทัย กล่าวอีกว่า การร้องเรียนของชาวบ้านนั้นมีการร้องเรียนติดต่อกันมาหลายปีแล้ว โรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ทำการแก้ไขปรับปรุงตลอด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบต้มให้ทันสมัยและไร้กลิ่น การจัดเก็บปลาร้าก็จัดเก็บด้วยถังที่ปิดฝามิดชิด มีวิศวกรมาตรวจควบคุมเรื่องกลิ่น ห้องผลิตน้ำปลาร้าก็จะติดฝ้าและปิดมิดชิดไม่ให้มีกลิ่นออก ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปีนี้.