สาธารณรัฐเกาหลี หรือประเทศเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยมายาวนาน โดยเฉพาะจากการที่ไทยตัดสินใจส่งกองกำลังทหารเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลีเมื่อปี พ.ศ.2493 โดยไทยเป็นประเทศแรกที่ตอบรับคำร้องขอของสหประชาชาติ
ว่ากันว่า ความรู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในบุญคุณของประเทศไทยที่ช่วยเหลือยามตกทุกข์ได้ยาก ไม่เคยจางไปจากใจของคนเกาหลีเลยแม้แต่น้อย
ล่าสุดสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยจัดกิจกรรมแสดงความขอบคุณแก่ทหารผ่านศึกในพื้นที่ภาคอีสาน โดยมี พันเอก คิม คยอง ยอล ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เดินทางลงพื้นที่ภาคอีสาน 7 จังหวัดเพื่อเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจแก่ทหารผ่านศึกชาวไทยที่ได้เข้าร่วมรบในสงครามเกาหลีเมื่อปี พ.ศ.2493-2496
การเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้เยี่ยมเยียนทหารผ่านศึกจำนวน 7 ท่านถึงที่บ้าน และยังได้จัดงานเลี้ยงในแต่ละจังหวัดให้กับครอบครัวทหารผ่านศึกจำนวน 56 ครอบครัว กว่า 170 คน
พันเอก คิม คยอง ยอล บอกว่า การเยี่ยมเยียนทหารผ่านศึกไทยที่ร่วมรบในสงครามเกาหลี เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สถานทูตเกาหลีประจำประเทศไทยปฏิบัติอย่างต่อเนื่องทุกปี ด้วยเพราะชาวเกาหลีไม่เคยลืมสิ่งที่คนไทยได้ร่วมรบและอยู่เคียงข้างกับเกาหลีในยามทุกข์ยาก โดยการเยี่ยมเยียนครั้งนี้ ได้เยี่ยมบ้านทหารผ่านศึกสงครามเกาหลีที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอายุเกินกว่า 90 ปี ได้มอบของขวัญและคำแสดงความขอบคุณจาก ฯพณฯ นายปาร์ค ยงมิน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย รวมไปถึงมีการจัดงานเลี้ยงและพิธีมอบทุนการศึกษาให้กับครอบครัวและทายาททหารผ่านศึกสงครามเกาหลีด้วย
...
“ผมได้เดินทางไปเยี่ยมทหารผ่านศึกรุ่นที่ 1 ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอปากช่อง และในตอนเย็นได้มีการจัดงานเลี้ยงรับรองอาหารเย็น ณ โรงแรม The Imperial ให้กับทหารผ่านศึกที่ยังมีชีวิตและครอบครัวรวมไปถึงเจ้าหน้าที่จากองค์การทหารผ่านศึก งานเลี้ยงเริ่มต้นขึ้นด้วยการกล่าวเปิดงานจากผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ต่อด้วยการมอบทุนการศึกษาให้กับทายาททหารผ่านศึก และได้ส่งต่อคำขอบคุณจากเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยถึงทหารผ่านศึกสงครามเกาหลี รวมถึงได้อวยพรให้ทหารผ่านศึกและครอบครัวมีความสุขและมีสุขภาพที่แข็งแรง” พันเอก คิม คยอง ยอล กล่าว
หนึ่งในนายทหารที่ร่วมรบในสงคราม เกาหลีที่ทางผู้ช่วยทูตทหารเกาหลีได้ไปเยี่ยมในครั้งนี้ คือ ท่าน พนม สุขประเสริฐ ทหารผ่านศึกสงครามเกาหลีรุ่นที่ 1 อายุ 96 ปี อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอปากช่อง เนื่องจากท่านมีอายุมากแล้ว จึงมีปัญหาในการฟังอยู่บ้าง แต่ในระหว่างการสนทนาลูกชายของท่านได้นำกระดาษมาใช้เขียนข้อความในการสนทนา โดยท่านทหารผ่านศึกได้อวยพรให้ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารมีแต่ความโชคดี และขอให้ครอบครัวมีสุขภาพที่แข็งแรง
นอกจากนี้ ในงานเลี้ยงอาหารเย็นในวันเดียวกัน ท่านไสว ประเสริฐ อายุ 91 ปี หนึ่งในทหารผ่านศึกที่มาร่วมงาน โดยท่านเป็นทหารเรือที่ได้เข้าร่วมรบในสงครามเกาหลีรุ่น 5 และ 6 ซึ่งในระหว่างการพูดคุย ท่านไสวได้ให้สัญญาว่าจะมีสุขภาพที่แข็งแรงจนกว่าจะได้พบกับผู้ช่วยทูตทหารคนใหม่ในปีหน้า และได้อวยพรให้ผู้ช่วยทูตทหารมีแต่ความโชคดีและแคล้วคลาด
ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยเล่าให้ฟังว่า เนื่องจากทหารผ่านศึกที่ร่วมรบในสงครามเกาหลีส่วนใหญ่อายุมากเกิน 90 ปี อย่างเช่น ท่านเวียงชัย วจนวโรดม อายุ 93 ปี อาศัยอยู่ในจังหวัดอุดรธานี มีปัญหาทางสุขภาพทำให้ไม่สะดวกในการเคลื่อนไหว เมื่อได้พบกับผู้ช่วยทูตทหารแล้วท่านเวียงชัยได้กล่าวว่า “ขอโทษที่ต้องนอนรับแขก ถึงแม้จะเป็นทหารแต่ก็เหมือนจะต้องยอมรับความพ่ายแพ้ของร่างกายในครั้งนี้เสียแล้ว แต่ถ้ามีโอกาสก็ยังอยากกลับไปยังประเทศเกาหลีอีกครั้ง”
...
“ผมได้บอกท่านเวียงชัยไปว่า ทหารจะยอมแพ้ไม่ได้ ท่านต้องรีบกลับมามีสุขภาพแข็งแรง และทางเกาหลีจะเรียนเชิญท่านไปเยี่ยมประเทศเกาหลีอีกครั้ง” พันเอก คิม คยอง ยอล บอกและว่า การเยี่ยมเยียนครั้งนี้ถือเป็นการให้กำลังใจแก่ทหารผ่านศึก เป็นการเดินทางเยี่ยม เยียนทหารผ่านศึกในพื้นที่ภาคอีสานครั้งที่ 3 กับการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ซึ่งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2567 ก็จะสิ้นสุดวาระของการดำรงตำแหน่ง ก่อนจะเดินทางกลับเกาหลี การเยี่ยมเยียนในครั้งนี้จึงถือเป็นช่วงเวลาในการกล่าวอำลาแก่ทหาร ผ่านศึกสงครามเกาหลีเช่นเดียวกัน
...
สำหรับสงครามเกาหลีได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกาหลีเหนือได้ส่งกองทัพเข้ารุกรานเกาหลีใต้ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2493 รัฐบาลไทย ซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ส่งกองกำลังรบทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เดินทางไปร่วมรบกับกองกำลังสหประชาชาติ ณ ประเทศเกาหลีใต้ โดยกองกำลังเกาหลีเหนือได้เปิดสมรภูมิยึดเกาหลีใต้ โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ตอบรับคำร้องขอขององค์การสหประชาชาติ เข้าร่วมกองกำลังชาติพันธมิตร จำนวน 22 ประเทศ จนกระทั่งสงครามยุติลงด้วยการเจรจา กองกำลังชาติพันธมิตรได้รับชัยชนะ ในยุทธการที่เนินพอร์คช็อป ซึ่งเป็นที่มาของสมญานามทหารไทยว่า “กองพันพยัคฆ์น้อย (Little Tiger)” อันหมายถึงนักรบร่างเล็กที่เต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บที่แหลมคม และเปี่ยมไปด้วยหัวใจที่ห้าวหาญ ซึ่งได้เสียสละชีวิตและเลือดเนื้อทำการต่อสู้อย่างสมเกียรติ สมศักดิ์ศรีของทหารไทยในสมรภูมิต่างแดน ซึ่งสงครามในครั้งนั้นประเทศไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบกว่า 6,200 นาย โดยมีทหารที่เสียชีวิตในสมรภูมิทั้งสิ้น 136 นาย.