กล้วยหอมทองหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เพราะเป็นผลไม้ที่ทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทต่อปี โดดเด่นที่ลูกใหญ่ สีเหลืองนวลเนื้อแน่น เหนียวนุ่ม โดยตลาดสำคัญคือ ญี่ปุ่น

จากการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “กล้วยหอมทองหนองบัวแดง” ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากของจังหวัดชัยภูมิ สร้างความภาคภูมิใจให้เกษตรกรและสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.66 ที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่พบกับ นางสาวกังสดาล ชาตกุล เกษตรจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า การส่งเสริมเกษตรกร อ.หนองบัวแดง ปลูกกล้วยหอมทองในรูปแบบเกษตรกรแปลงใหญ่มาตั้งแต่ปี 2560 โดยต้นกำเนิดมาจาก กล้วยหอมทอง พันธุ์กาบดำ จากจังหวัดลพบุรี มาปลูกในพื้นที่อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ มีพื้นที่เป็นพื้นที่แปลงใหญ่ กล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกหนองบัวแดง 571 ไร่ สมาชิก 31 คน มีผลผลิต 3,000 กว่าตัน/ปี ขายได้ราคากิโลกรัมละ 18-20 บาท

...

เกษตรจังหวัดชัยภูมิ กล่าวต่อว่า ต่อมาได้รับการรับรองมาตรฐาน GI ด้วยการที่มีพื้นที่ปลูกเป็นพื้นที่เชิงเขา เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำชี เป็นพื้นที่ของแหล่งเหมืองแร่ทองคำ ทำให้พื้นดินบริเวณนั้นอุดมสมบูรณ์ พื้นที่บริเวณนั้นเป็นช่องลม มีลมพัดผ่าน เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของต้นกล้วย ส่งผลให้กล้วยหอมทองหนองบัวแดง มีผลยาวใหญ่ สีเหลืองนวล เนื้อแน่น เหนียวนุ่ม และมีเนื้อละเอียดกว่ากล้วยชนิดอื่น ลักษณะเปลือกนั้นจะมีความหนาและไม่มีจุดดำ เนื้อกล้วยจึงไม่ช้ำ ทำให้สะดวกและเอื้อต่อการขนส่ง ผลผลิตที่ได้ในแต่ละปี 90% ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น อีก 10% จำหน่ายในประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ปีละไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท

น.ส.กังสดาล กล่าวอีกว่า ด้วยอัตลักษณ์ที่ชัดเจนนี้ จนทำให้ “กล้วยหอมทองหนองบัวแดง” เป็นพืชเศรษฐกิจหุบเขาเกษตรอินทรีย์ของ จ.ชัยภูมิ ผู้ที่เคยกินกล้วยหอมจากที่อื่นมาแล้ว เมื่อได้มากินกล้วยหอมทอง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GI ที่เป็นพืชเศรษฐกิจหุบเขาเกษตรอินทรีย์ของ จ.ชัยภูมิแล้วจะไม่ผิดหวังทั้งรสชาติ และมีคุณค่าทางอาหารมากมายด้วย เป็นแหล่งพลังงาน ลดความอ้วน ปลอดภัยแน่นอน

...

ขณะที่ นายอุดมศักดิ์ เพิงจันดา อายุ 70 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ที่ 7 ตำบลถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกหนองบัวแดง กล่าวกว่า ตนเองปลูกกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก 1,000 ต้น ตัดครั้งหนึ่งได้ 200 เครือ ได้เครือละ 200 บาท จะมีรายได้สัปดาห์ละ 20,000 บาท หรือ เดือนละประมาณ 80,000 บาท ส่งออกไปขายตามไปสั่งที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อได้รับการรับรองมาตรฐาน GI ได้ประโยชย์หลายด้านทั้งคนกินมั่นใจในความปลอดภัย ว่ากล้วยปลอดสารพิษ รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกก็สบายใจมากขึ้น ในเรื่องความปลอดภัยในตัวเกษตรกรเองอีกด้วย.