ภาพจากเฟซบุ๊ก โรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล ขอนแก่น

ผู้ประกอบการโรงแรมที่ จ.ขอนแก่น โอดค่าไฟฟ้าขึ้น 30% ชี้ ต้องทำใจ และขอทำเรื่องผ่อนผันชำระค่าใช้จ่าย คาดค่าไฟจะแพงขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือน จำใจรัดเข็มขัด แม้ยอดผู้เข้าพักจะทรงตัว

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 21 เม.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากภาวะค่าไฟที่ปรับเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยเอฟทีที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเรื่องค่าใช้เนื่องจากมีราคาที่แพงขึ้นเกือบเท่าตัวเช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนเช่นกัน ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจและพูดคุยกับผู้ประกอบการโรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล จ.ขอนแก่น พบว่าค่าไฟเดือน เม.ย.ปรับขึ้นเป็น 220,000 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมามากกว่า 30% ทั้งที่ปริมาณงานและลูกค้าที่มาใช้บริการนั้นทรงตัวและลดลง ทำให้ทางโรงแรมต้องกำหนดมาตรการประหยัดพลังงานในด้านต่างๆให้รัดกุมมากขึ้น แต่ก็บรรเทาได้ไม่มากนัก เพราะต้องจ่ายค่าไฟในราคาแพงตามใบวางบิลที่การไฟฟ้ากำหนด

นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ เจ้าของโรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล จ.ขอนแก่น กล่าวว่า มาตรการประหยัดพลังงาน ทั้งการสลับการเปิดปิดไฟแสงสว่าง การหมุนเวียนการใช้เครื่องปรับอากาศ และการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในจุดต่างๆ ทั่วทั้งโรงแรม ได้มีการดำเนินการมาอย่าต่อเนื่องทุกเดือน แต่ก็บรรเทาความเดือดร้อนจากราคาค่าไฟเดือนนี้ได้ไม่มากนัก ซึ่งในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาค่าไฟอยู่ที่ 160,000 บาท มาเดือน เม.ย.นี้ซึ่งเพิ่งได้รับบิลค่าไฟเมื่อวานที่ผ่านมา ราคาปรับขึ้นถึง 220,000 บาท ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนอย่างมาก

"ค่าไฟแพง ปริมาณลูกค้าที่มาพักห้องพัก, ลูกค้าที่มาจัดงาน หรือลูกค้ามาทานอาหาร หรือใช้พื้นที่ต่างๆ ของโรงแรมก็ทรงตัว จะมากก็ช่วงต้นเดือน เม.ย. แต่หลังสงกรานต์ไปลูกค้าก็เบาบางลง แต่ค่าไฟก็ไม่ลดลง ซึ่งโรงแรมเจอปัญหาแบบนี้ทุกปี ก็ได้แต่ทำใจ เพราะทำอะไรไม่ได้ เพราะการไฟฟ้าแจ้งว่าเป็นค่าเฉลี่ยของค่าเอฟทีที่ต้องดำเนินการในเดือนนี้ จึงได้แต่ประสานเรื่องการผ่อนชำระ หรือการยืดหยุ่นห้วงเวลาการจ่ายต่อไป" เจ้าของโรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล กล่าว

...

นายเข็มชาติ กล่าวอีกว่า เดือนนี้เป็นจุดพีกสุดของค่าไฟที่ทุกคนต้องได้รับ และคาดว่าค่าไฟจะทรงตัวไปอีก 2-3 เดือน และจะค่อยๆ ทยอยลดลงตามการบริหารจัดการของการไฟฟ้า อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับต้นทุนต่อไปเพราะทำอะไรไม่ได้ ได้แต่บ่น และต้องกลับมาทบทวนแผนการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ของตนเองให้มากขึ้นว่าอะไรที่จะลดได้ แต่ทั้งนี้ด้วยระบบโรงแรมทุกอย่างต้องเท่าเดิมและเหมือนเดิม ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำที่ต้องจ่าย แต่ปริมาณงานลดลง ลูกค้าไม่มี รัฐบาลก็ควรที่จะเร่งส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ให้มากขึ้นและเร็วขึ้น โดยเฉพาะกับการเบิกจ่ายของภาครัฐและการประชุม สัมมนาต่างๆ เพราะเมื่อต้องจ่ายค่าไฟแพงการช่วยเหลือที่จะสร้างรายรับให้กับผู้ประกอบการ รัฐบาลก็ต้องคำนึงและมองเห็นในจุดนี้ด้วยเช่นกัน.