นพ.หมอเจษฎ์ แนะกลุ่ม 608 ฉีดครบ 4 เดือนให้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ขณะที่ กลุ่มเด็ก 6 เดือน-4 ปี ต้องนำไปฉีดวัคซีน รพ.สต. และ สถานีอนามัยที่เวลเบบี้คลินิก ทั้ง 32 อำเภอ

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2565 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นายแพทย์เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา หัวหน้าศูนย์วัคซีน รพ.มหาราชนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคโควิดและการฉีดวัคซีน สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี และกลุ่ม 608 ว่า ตอนนี้เรากำลังพยายามเร่งฉีดวัคซีนในเด็กกลุ่มนี้ทั้งที่ รพ.มหาราชฯ และที่ศูนย์ฉีดที่เซ็นทรัลพลาซ่าช่วง วันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์สัปดาห์ละ 300-400 คน

หัวหน้าศูนย์วัคซีน รพ.มหาราชนครราชสีมา กล่าวต่อว่า ส่วนการฉีดตามต่างอำเภอ รพ.สต. ส่วนใหญ่ทาง PCU สถานีอนามัยเหล่านี้เขาะมีคลินิกที่เรียกว่า เวลเบบี้คลินิก เป็นคลินิกที่ตรวจเด็กและฉีดวัคซีนตามช่วงอายุ ฉะนั้นวัคซีนไฟเซอร์ฝาแดงจะถูกใส่เข้าไปในโปรแกรมด้วย เพราะว่าไม่จำเป็นจะต้องฉีดที่อายุเท่าไร ตอนนี้ทางคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่าสามารถฉีดร่วมกับตัววัคซีนอื่นๆ ได้เลย ซึ่งตอนนี้ทาง รพ.มหาราชฯ เองเรามี 4 ศูนย์ที่อยู่ภายใน รพ.มหาราชฯ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์แพทย์วัดป่าสาละวัน, ศูนย์แพทย์หัวทะเล, ศูนย์แพทย์จอหอ และเรื่องคลินิกเวชกรรม โรงเรียนสวนหม่อน เรารณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกๆ สัปดาห์ ซึ่งจะมีเด็กๆ ที่เข้ามารับการฉีดวัคซีนสัปดาห์ละ 20-30 คน

นพ.เจษฎ์ กล่าวว่า ส่วนในกลุ่ม 608 ที่ต้องฉีดทุกๆ 4 เดือนนั้น จริงๆ วัคซีนตัวไฟเซอร์ที่มาโดยเฉลี่ยแล้วจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ประมาณ 4 เดือนเป็นช่วงที่คุ้มกันได้ ฉะนั้นตอนนี้ในหลายๆ คนที่ฉีดมาแล้วเกิน 4 เดือนก็อยากจะมีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีน เนื่องจากตอนนี้ตัวเลขของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากว่าเราผ่อนปรนมากขึ้นและพี่น้องประชาชนที่อาจจะมีบางส่วนที่ไม่ได้ระมัดระวังบวกกับนักเรียนที่ไปโรงเรียนมันมีเพิ่มขึ้นและหลายๆ มาตรการการคัดกรองน้อยลง และร่วมกับในบางคนมีความจำเป็นที่อยากจะไปต่างประเทศและอยากจะเพิ่มภูมิคุ้มกัน ฉะนั้นในกลุ่ม 608 A รวมไปถึงกลุ่มอื่นๆ ด้วย ซึ่งตนคิดว่าเราคงไม่ได้ไปโฟกัสที่กลุ่ม 608 อย่างเดียว แต่เราคงต้องโฟกัสทุกกลุ่ม เพราะทุกคนก็มีความสำคัญเหมือนกัน

...

"ฉะนั้นการมาเพิ่มภูมิคุ้มกัน เพื่อที่จะรอรับกับศึกที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปีใหม่ เพราะเป็นช่วงเทศกาลการเฉลิมฉลองและมีเรื่องของการที่ไม่ได้เว้นระยะห่างเหมือนเดิม รวมไปถึงสภาพอากาศที่เย็นมากขึ้น หนาวมากขึ้นตรงนี้เป็นสิ่งที่เราค่อนข้างที่จะระวังมาก ตัวเลขต่างๆ ในอเมริกาหรืออังกฤษเริ่มมีจำนวนผู้ติดโควิดมากขึ้นด้วยเหตุผล 1 อากาศเย็น 2 คนรวมตัวกันมากขึ้น 3 เรื่องของการใส่หน้ากากค่อนข้างที่จะไม่มีแล้ว ฉะนั้นอยากจะฝากทุกคนยังไงเรื่องของการมาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นเรื่องของการเพิ่มภูมิคุ้มกันและรวมไปถึงมาตรการการป้องกันตัวเองมันก็จำเป็นที่จะต้องทำอยู่ต่อไป" หัวหน้าศูนย์วัคซีน รพ.มหาราชนครราชสีมา กล่าว

นพ.เจษฎ์ กล่าวถึงความน่ากังวลในช่วงปีใหม่ 2566 โอกาสที่โควิด-19 จะกลับมาระบาด จำนวนผู้ป่วยพีกสูงอีกนั้น คิดว่าตัวเลขที่ติดวันนี้น่าจะมีการเพิ่มขึ้น เช่น โรงพยาบาลมหาราชฯ เองที่เข้ามารับยาในกลุ่ม 608 เป็นยาต้านไวรัสต่างๆ นานามีตัวเลขที่เพิ่มขึ้น แต่ว่ายังมีคนไข้ที่ตรวจ ATK แล้ว 2 บวกแล้วกักตัวเองที่บ้าน หรือว่าไม่มีอาการแล้วก็ไปทำงานอยู่ ตรงนี้ตัวเลขยังไม่แน่นอน แต่ว่าจะพีกคงต้องมองว่าพีกเรื่องจำนวนหรือว่าพีกในเรื่องของตัวรุนแรง ในเรื่องของจำนวนผู้ป่วย คิดว่าน่าจะเริ่มกลับมามีตัวเลขแนวโน้มตามที่กระทรวงฯ บอกว่า สมอลเวฟที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในช่วงสั้นๆ และเราคงต้องรอดูว่าในช่วงปีใหม่ที่เป็นเทศกาลจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่าคงต้องดูอีกที ส่วนเรื่องความรุนแรงก็ต้องยอมรับว่าความรุนแรงไม่ได้รุนแรงมากกว่าแต่ก่อน ฉะนั้นการเพิ่มภูมิคุ้มกันอาจจะจำเป็นสำหรับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นกลุ่ม 608 อันนี้จำเป็นจะต้องเพิ่มภูมิคุ้มกันเป็นหลักด้วย

“การให้ผู้ปกครองนำเด็กไปฉีดวัคซีนกลุ่มเด็ก ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ของประเทศไทยรวมไปถึงของ WHO เขาพยายามที่อยากจะให้เด็กทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนตัวนี้ เพราะว่าจริงๆ แล้วมันก็ยังอยู่ในช่วงที่มีการระบาดอยู่ ถึงแม้ว่าเราจะประกาศว่าไม่ใช่การระบาดรุนแรงหรือภาวะฉุกเฉิน แต่เป็นช่วงอยู่ในการจับตามองและการเฝ้าระวังป้องกันอยู่ และจำนวนผู้ป่วยและการติดเชื้อก็ยังถือว่ามีอยู่และตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงในกลุ่มเด็กนักเรียนที่ไปโรงเรียนด้วย

ขณะนี้ ต้องยอมรับจริงๆ ว่า หลายๆ ที่ หลายๆ โรงเรียนเราไม่ได้สนใจเรื่องของผลการตรวจ ATK ก่อนมาโรงเรียนแล้ว ฉะนั้นการที่เด็กๆ เองที่เราเป็นห่วงมาตั้งแต่ 1-2 ปีก่อน ไม่ว่าเรื่องไปโรงเรียนแล้วมีการติดเชื้อกันได้ตรงนี้อาจจะต้องฝากพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ คนเฝ่าระวังกันด้วย นอกจากการที่จะต้องพาลูกมาเพิ่มภูมิคุ้มกันแล้วสิ่งที่สำคัญจะต้องเน้นไปที่ตัวทั้งตัวโรงเรียน ตัวครู และที่บ้าน" หัวหน้าศูนย์วัคซีน รพ.มหาราชนครราชสีมา กล่าว

นพ.เจษฎ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องความห่วงใยภายในเรือนจำต่างๆ มาตรการในการตรวจ ATK หรือว่าการสกรีนผู้ป่วยก่อนที่จะเข้าไปในเรือนจำ ขณะนี้ ก็จะห่างหายไปตรวจจุดนี้ ฉะนั้นบางครั้งไม่ว่าจะเป็นเคสที่หลุดเข้าไปแล้วมีการติดเชื้อโควิด-19 ร่วมกับสถานการณ์ที่เข้าไปในเรือนจำแล้ว ตอนนี้เราเองจะเห็นได้เลยว่า ตัวเลขผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่เป็นโรคติดต่อ เช่น ในกลุ่มที่เป็นวัณโรค หรือคนไข้ที่เป็น HIV ตอนนี้จะมีอาการที่เรียกว่าอาการติดโควิด-19 ร่วมด้วย ฉะนั้นตอนนี้ในการรักษาคนไข้กลุ่มที่อยู่ในเรือนจำตรงนี้ค่อนข้างมีปัญหา เพราะว่าในเรือนจำเราก็รู้ว่าจริงๆ แล้วมันมีโรคติดต่อบางอย่างที่เราเจอค่อนข้างมาก เช่น กลุ่มวัณโรค หรือกลุ่มที่มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ซึ่งตนมองว่าในเรื่องของการป้องกันมาตรการตรงนี้ ก็ยังอยากให้ยื่นเรื่องของการสกรีนนิ่งไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าเรื่องของการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 น้อยลง

หัวหน้าศูนย์วัคซีน รพ.มหาราชนครราชสีมา กล่าวด้วยว่า ส่วนการติดเชื้อในเรือนจำจะเกิดขึ้นอีกนั้น ตนคิดว่าคงต้องลองดูในอดีตที่เป็นบทเรียนที่ให้เรา เช่น การติดเชื้อในเรือนจำที่กรุงเทพฯ มีคนติดเชื้อเป็นหลักพันรายเป็นรายวัน และในเรือนจำที่โคราชแต่ละแห่งมีคนติดเชื้ออยู่ในเรือนจำก็หลักพันรายเหมือนกัน ฉะนั้นตรงนี้ตนอยากให้เฝ้าระวังจุดนี้ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการป้องกัน การเว้นระยะห่างในเรือนจำอาจจะเป็นเรื่องที่ทำค่อนข้างยาก ฉะนั้นถ้าเราเฝ้าระวังตรงจุดนี้ได้ดีอยู่ในการที่จะป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของโควิด-19 ในเรือนจำ ยังไงก็น่าจะทำให้การดูแลตรงนี้ค่อนข้างดีขึ้น ในจุดที่เป็นเรือนจำเราเองต้องยอมรับว่า เรื่องของการเว้นระยะห่างหรือการใส่หน้ากากตลอดเวลา ตนคิดว่าในส่วนตรงนี้ทางโรงพยาบาลเองหรือประชาชนทั่วไป ยังมีความกังวลว่าอาจจะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ๆ ที่อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาได้.

...