สปป.ลาว เชื่อมโยงระบบรางมาตรฐาน รางหนึ่งเมตร เพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าไปจีน เอกชนไทยมองเป็นโอกาสอันดีในระบบส่งออกที่สะดวก รวดเร็ว อนาคตส่งสินค้าไปยุโรปผ่านรางได้สบาย

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.65 ได้มีพิธีเปิดการเชื่อมโยงระบบรางมาตรฐานและรางหนึ่งเมตร จุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า นครหลวงเวียงจันทน์ อย่างเป็นทางการ ณ ท่าบกท่านาแล้ง สปป.ลาว โดยมีนายสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี แห่ง สปป.ลาว เป็นประธานในพิธีเปิด ร่วมกับ นายหยวน หมิง ฮ่าว ผู้อำนวยการใหญ่ (Managing Director of LCRC) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา สามารถดำเนินการเชื่อมต่อระบบรางแบบมาตรฐานได้ในวันนี้

นายปัญญา ปะพุธสะโร ประธานบริหาร บริษัทเก้าเจริญเทรนทรานสปอร์ต พร้อมด้วยภาคเอกชนในจังหวัดหนองคาย และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมงานสำคัญในครั้งนี้ด้วย และได้กล่าวว่า วันนี้เป็นวันดีที่ได้เห็นการเชื่อมต่อราง 2.8 กม. จากท่าบกท่านาแล้งไปยังสถานีเวียงจันทน์ใต้ ซึ่งรอมานาน ต่อไปค่ายกขนสินค้าจะต่ำลง ความเร็วจะเพิ่มขึ้น บริษัทเก้าเจริญทรานสปอร์ต ปตท PIS , AEL และ ONB ได้รับตู้คอนเทนเนอร์ 54 ตู้ จะนำไปขนทุเรียนที่จังหวัดชุมพร ซึ่งภาคใต้เป็นฤดูผลไม้ ส่งกลับไปยังคุนหมิง โดยจะทำการขนส่งในเดือน ก.ค.65 จำนวน 54 ตู้ ส่วนเดือน ส.ค.65 ได้รับการประสานงานล่วงหน้าแล้วจำนวน 300 ตู้ และมีอีก 200 ตู้ คาดว่าปีนี้ทุเรียนภาคใต้จะส่งออกทางรถไฟได้มากขึ้น รางขนาด 1.435 เมตร เป็นรางมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทางรถไฟ ทำให้การขนส่งเร็วขึ้น ไม่จำเป็นต้องยกตู้ยกลงบ่อย ๆ ต่อไปนี้การขนส่งจากไทย-ลาว-จีน-รัสเซีย และประเทศอื่นๆ ในยุโรป จะมีความเร็วมากขึ้น ช่วยทั้งผู้ประกอบการและลูกค้าในแต่ละประเทศ

...

ในช่วงเดือน ก.ค.65 บริษัทโอเรียนทอล เมอร์เซนท์ เอ็กเพรส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนมีแผนดำเนินการขนส่งทุเรียนร่วมกับบริษัทพันธมิตร อันได้แก่ บริษัทแพนเอเชีย ซิลค์โรด จำกัด บริษัทเก้าเจริญเทรนทรานสปอร์ตจำกัด และบริษัทเอเชียเอ็กเพรสโลจิสติกค์จำกัด จะทำการขนส่งทุเรียนด้วยระบบรางไปยังประเทศจีน โดยใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีน ผ่านด่านโม่หาน ไปยังนครคุนหมิง ประเทศจีน ปริมาณการขนส่งทุเรียนหมอนทองด้วยตู้สินค้าขนาด 40 ฟุต จำนวน 108 ตู้ ด้วยปริมาณน้ำหนักทุเรียนประมาณ 2,000 ตัน

จากความร่วมมือครั้งนี้ ตู้สินค้าจะสามารถดำเนินการขนส่งด้วยระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น เนื่องจากมีการเชื่อมระบบรางขนาด 1.435 เมตร Standard Gauge จากประเทศจีน และระบบราง ขนาด 1 เมตร Meter Gauge จากประเทศไทย เอาไว้ที่จุดเดียวกันที่ท่าบกท่านาแล้ง เวียงจันทน์ โลจิสติกส์พาร์ค ทำให้สามารถประหยัดทั้งระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่ง ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการขนส่งด้วยระบบรางให้สามารถแข่งขันกับการขนส่งด้วยวิธีอื่นได้เป็นอย่างดี และยังเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งให้กับผู้ส่งออกที่ต้องการจะส่งสินค้าไปยังประเทศจีน อีกทั้งยังเป็นการขยายตลาดผลไม้จากประเทศไทยทำให้ผู้บริโภคในประเทศจีนโดยเฉพาะบริเวณจีนตอนใต้และตะวันตก สามารถเข้าถึงและได้รู้จักผลไม้จากประเทศไทยมากขึ้นด้วย.