เกษตรกรฟาร์มไก่ไข่ ต.บ้านกลาง อ.เมืองนครพนม ยันไม่ขึ้นราคา ชี้ไข่แพงเพราะนายทุนพ่อค้าคนกลางเก็งกำไร คนเลี้ยงแบกต้นทุนหนักจนเดือดร้อน ขอให้ปล่อยราคาไข่ตามกลไกตลาด อย่าคุมราคาแก้ปัญหาปลายเหตุ

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ จ.นครพนม ภายหลังมีข่าวการขึ้นราคาไข่ไก่ จากปกติฟองละ 3-4 บาท เพิ่ม เป็น 5 บาท ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึง ความเป็นอยู่ค่าครองชีพของชาวบ้าน ทางผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ ปัญหาราคาไข่ไก่ ในพื้นที่ ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.นครพนม เนื่องจากเป็นพื้นที่ มีเกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่ มากที่สุดของ จ.นครพนม กว่า 20 ฟาร์ม รวมกว่า 1 แสนตัว โดยมีผลผลิตไข่ไก่ ออกสู่ตลาดวันละกว่า 1 แสนฟอง

จากการสอบถามเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ส่วนมาก ยืนยันว่า ขายในราคาเดิม ไม่ปรับขึ้นราคา ส่วนการปรับขึ้นราคา มาจากพ่อค้าคนกลางที่เป็นนายทุนกำหนดเอง และมีการกดราคาเกษตรกรเพื่อขายเก็งกำไร ส่วนเจ้าของฟาร์มยังขายส่งราคาเดิม เพราะไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ เนื่องจากมีการควบคุมจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งนี้อยากสะท้อนไปยังรัฐบาลให้มีการแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบ หัวอาหาร แม่พันธุ์ ที่มีราคาแพง แทนการควบคุมราคาไข่ไก่ ให้เกษตรกรอยู่ได้ เป็นการแก้ปลายเหตุ เพราะปัจจุบันเกษตรกรหลายรายต้องหยุดเลี้ยงไก่ไข่ เพราะแบกภาระต้นทุนไม่ไหว แต่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาไข่ไก่ได้ ตามกลไกของตลาด

...

นางพรพิมล พิมพ์พงษ์ อายุ 57 ปี เจ้าของฟาร์มไก่ไข่ บุญเรียนฟาร์ม ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.นครพนม เปิดเผยว่า ชาวบ้าน ต.บ้านกลาง อ.เมืองนครพนม ยึดอาชีพเลี้ยงไก่ไข่มานานกว่า 20 ปี เดิมมีฟาร์มไก่ไข่มากกว่า 20-30 ฟาร์ม รวมไก่ไข่มากกว่า 4-5 แสนตัว ปัจจุบันต้องทยอยเลิกทำอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ เพราะได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เหลือแค่ประมาณ 10 ฟาร์ม รวมแม่พันธุ์ ประมาณ แสนตัว ปัญหาสำคัญที่สุดคือ ราคาต้นทุนวัตถุดิบหัวอาหาร ปัจจุบัน ราคาแพงขึ้นกว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์ จากราคา 400 บาท เพิ่มเป็น 450-500 บาท รวมถึงแม่พันธุ์ ตกตัวละ 40-50 บาท จากปกติ ตัวละ 20-13 บาท ในฟาร์มของตัวเอง ขณะนี้ มีแม่พันธุ์ไก่ ประมาณ 17,000 ตัว ออกไข่วันละ ประมาณ 15,000 ฟอง ต้องแบกต้นทุนค่าอาหารวันละประมาณ 25,000 บาท เฉลี่ยไข่ไก่ที่ขายออกไปตกฟองละ 3 บาท ได้กำไรฟองละ ไม่ถึง 5 สตางค์ ต้องอาศัยจำนวนมาก วันไหนไก่ออกไข่น้อย ขาดทุน เพราะกินเท่าเดิม ต้นทุนอาหารสูง

เจ้าของฟาร์มไก่ไข่ บุญเรียนฟาร์ม กล่าวด้วยว่า สำคัญที่สุด ปัญหาหนักปัจจุบัน คือ ต้นทุนหัวอาหาร เกษตรกรต้องแบกต้นทุนสูง แต่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาไข่ไก่ได้ ยังขายราคาปกติ เฉลี่ยฟองละ 3-4 บาท ส่วนกรณีที่มีการปรับขึ้นราคา เพราะนายทุน พ่อค้า คนกลางที่มารับซื้อกำหนดราคาเอง หนำซ้ำยังกดราคาเกษตรกร อยากเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือเรื่องต้นทุนหัวอาหาร ต้องมีการควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินไป ไม่ใช่มาควบคุมราคาไข่ไก่ อยากให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เมื่อต้นทุนสูงไข่ต้องปรับขึ้นราคาเป็นธรรมดา เพราะหากไม่ปรับราคาไข่ปัญหาขาดทุนตามมา ไม่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาปลายเหตุ สุดท้ายผลประโยชน์ตกที่นายทุน วอนช่วยเหลืออุดหนุนไข่ไก่เกษตรกรบ้านกลาง ชาวบ้านจะได้บริโภคไข่ไก่สดทุกวัน สะอาด ปลอดภัย.