ลุงตู่ ควง บิ๊กป้อม คุยภาคเอกชนประเด็นทิศทางแผนเปิดเมือง "อุดร พลัส โมเดล" เพื่อรับกับการเปิดให้บริการของ รถไฟความเร็วสูงจากจีน-สปป.ลาว ต้องพัฒนาการคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานมารองรับ

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ที่ศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ ถนนทองใหญ่ เขตเทศบาลนครอุดรธานี พล.ต.ต.อรรคพงศ์ พิมลศิริ รอง ผบก.ภ.4 เดินทางมาอำนวยการ รักษาความปลอดภัย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ที่จะเดินทางมาร่วมประชุม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี และแผนเปิดเมือง "อุดร พลัส โมเดล" ของจังหวัดอุดรธานี

ด้านหน้ามีมวลชนจากกลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน 20 จังหวัด วิสาหกิจชุมชนภาคอีสาน กลุ่มพัฒนาชาติไทยภาคอีสาน 500 คน เดินทางมาคอยต้อนรับ และชูป้ายให้กำลังใจ ขอให้เป็นนายกฯ ต่อไปอีก 1 สมัย ขณะเดียวกันมีกลุ่มต่อต้านนายกรัฐมนตรี ก็เดินทางมาทำกิจกรรมเช่นกัน ประกอบด้วย กลุ่มอุดรพอกันที กลุ่มเสรีประชาธิปไตย และกลุ่มคนเสื้อแดง ประมาณ 50 คน เดินทางมาต่อต้านและขับไล่นายกฯ ด้วยการใช้ “โทรโข่ง” เชิญชวนคนมาขับไล่ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งงดใช้เครื่องเสียง และขอให้ย้ายพื้นที่ ทำให้กระทบกระทั่งกันราว 20 นาที

...

กระทั่งเวลา 10.50 น. วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 3 กองร้อย ได้เข้าคุมพื้นที่ฝั่งตรงข้าม ศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ กันพื้นที่ให้กลุ่มผู้สนับสนุน และกลุ่มต้านออกจากกัน โดยให้กลุ่มสนับสนุนอยู่ด้านหน้าติดถนน เมื่อขบวนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางจากวัดเกษร ศีลคุณ หรือวัดป่าบ้านตาด มาถึงลงรถหน้าศูนย์ประชุมฯ ด้วยการควงแขนพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาจากรถ เข้าทักทายกลุ่มผู้มาสนับสนุน โดยผู้สนับสนุนได้ผูกผ้าขาวม้า ชูป้ายสนับสนุน ส่งเสียงเชียร์ "รักลุงตู่ ลุงตู่สู้ๆ" และโบกมือทักทายผู้ให้กำลังใจฝั่งตรงข้าม โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที

หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าไปในที่ประชุม กลุ่มผู้ให้การสนับสนุน ทยอยแยกย้ายกันเดินทางกลับ ส่วนกลุ่มต่อต้านทั้ง 3 กลุ่ม ย้ายการรวมตัวมาอยู่บริเวณ ฝั่งตรงข้ามประตูทางออกศูนย์ประชุม เพื่อปักหลักรอทำกิจกรรม ช่วงนายกรัฐมนตรีประชุมเสร็จ จะเดินทางไปวังนาคินทร์ คำชะโนด เจ้าหน้าที่ตำรวจก็นำกำลัง ย้ายมาอยู่บริเวณเดียวกัน รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เสนอนายกฯ 7 ข้อ เน้นพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในด้านการคมนาคม โลจิสติกส์ ให้ภาคการค้า การบริการ การท่องเที่ยว เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงจากจีน-สปป.ลาว ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564

...

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ธันวาคม นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อประชุมร่วมกับจังหวัด ภาคเอกชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดอุดรธานีและแผนเปิดเมือง "อุดร พลัส โมเดล" โอกาสนี้เรามีข้อเสนอนายกรัฐมนตรี คือ การเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงจากจีน-สปป.ลาวในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น คาดการณ์ไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านคนต่อปี จึงเป็นโอกาสทางการค้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้มุ่งเป้าหมายทางการค้าสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้ง สปป.ลาว เวียดนาม จีน และกัมพูชา

ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กล่าวต่อว่า ในการเตรียมการเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงจากจีน-สปป.ลาว ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในด้านการคมนาคม โลจิสติกส์ ให้ภาคการค้า การบริการ การท่องเที่ยว โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2561 ณ จังหวัดเพชรบูรณ์ และเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2561 ณ จังหวัดหนองคาย ได้สร้างโอกาสทางการแข่งขันให้กับจังหวัดอุดรธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย

...


1. การขยายผิวจราจรทางหลวงหมายเลข 2 อุดรธานี – หนองคาย
2. การขยายผิวจราจรทางหลวงหมายเลข 216 ถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานีด้านทิศตะวันออก
3. การขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ถนนสายแยกทางหลวง หมายเลข 2 – พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ (หลวงตามหาบัว) อ.เมือง จ.อุดรธานี
4. เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น - อุดรธานี, อุดรธานี – หนองคาย
5. การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดอุดรธานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการเติบโตของนักเดินทางและนักท่องเที่ยว และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3
6. Logistic Park ศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและโครงการท่าเรือบก (Inland Container Depot) จังหวัดอุดรธานี
7. พัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ให้สอดรับกับการแข่งขันในเวทีสากล.