เอกชน ร่วมกับ รฟท. และการรถไฟลาว ทดสอบขนสินค้าจากหนองคาย ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จากไทยไปลาวเตรียมขยายต่อสู่จีน ชี้แนวโน้มความต้องการส่งทางรางเพิ่มขึ้น เชื่ออนาคตสดใสไปได้เร็วและประหยัดกว่า
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 64 ที่สถานีรถไฟหนองคาย ขบวนรถสินค้าทดสอบข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 อ.เมืองหนองคาย ได้เดินทางกลับเข้าเทียบชานชาลาสถานีรถไฟหนองคาย หลังจากได้ทำการเดินรถทดสอบไปเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการขนตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกยางพาราของบริษัทศรีตรัง ทำการขนยางพาราจาก จ.บึงกาฬ จำนวน 30 ตู้สั้น น้ำหนักประมาณ 20 ตัน ขึ้นขบวนรถไฟเพื่อเดินทางไปยังแหลมฉบังด้วย
นายปัญญา ปะพุธสะโร ประธานบริหารบริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต บริษัทเอกชน ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย และ การรถไฟ สปป.ลาว กล่าวว่า การทดสอบขนส่งสินค้าด้วยรถไฟจากไทย-ลาว ในครั้งนี้ เป็นการทดสอบร่วมกันระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ การรถไฟ สปป.ลาว โดยใช้ดินบรรจุถุงที่มีน้ำหนักเท่ากับปริมาณสินค้าที่ต้องการขนส่ง จำนวน 25 ตู้ยาว ทำการทดสอบ 3 รอบ จะมีปัญหาติดขัดด้านใดหรือไม่ เป็นการทดสอบน้ำหนัก เพื่อป้องกันการร้องเรียนว่ายังไม่ได้ส่งออกจริงแต่ฉวยโอกาสลักลอบนำสินค้าออกนอกราชอาณาจักร โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนไปด้วย ส่วนจะเริ่มส่งออกสินค้าจริงในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 เพราะจะไปสอดรับกับวันชาติลาวในวันที่ 2 ธ.ค. 64 โดยจะขนส่งเม็ดพลาสติกก่อน หลังจากนั้นจะเป็นการขนส่งทุเรียน มังคุด จาก จ.ระยอง ไปประเทศจีนเพื่อส่งต่อไปยุโรป
...
ประธานบริหารบริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต กล่าวต่อว่า ขณะนี้ มีภาคธุรกิจขนส่งหันมาให้ความสนใจต้องการให้ทางบริษัทขนส่งทางรางแทนรถยนต์ให้หลายราย เพื่อสู้กับน้ำมันแพง ประกอบกับประเทศไทยอยู่ในช่วงวิกฤติของตู้คอนเทนเนอร์และสายเรือ เนื่องจากตอนนี้ตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเข้ามาในไทยค่อนข้างน้อย เพราะสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทั่วโลกมีปัญหา เช่น ส่งตู้คอนเทนเนอร์ไปอเมริกา แต่ไม่มีตู้เปล่ากลับมาเอเชีย ทำให้เกิดวิกฤติตู้คอนเทนเนอร์เปล่า เพื่อการส่งสินค้าออกต่างประเทศขาดแคลน หรือถ้าจะมีก็ราคาแพงขึ้น 4-5 เท่าตัว ก่อนหน้านี้เคยขนสินค้าจาก ไทย-ลาว-จีน ด้วยรถบรรทุก ซึ่งมีปัญหาที่ผ่านมา สถานการณ์ช่วงโควิดบริเวณชายแดนบ่อเต็น รถเทรลเลอร์ประมาณ 200 คัน ถูกไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศจีน ต้องถูกส่งกลับเข้าเชียงของ ประเทศไทย ส่งผลให้สินค้าเสียหาย ประกอบกับหากใช้รถเทรลเลอร์จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 วัน หากส่งสินค้าทางเรือไปจีนใช้เวลา 10 วัน
นายปัญญา กล่าวอีกว่า แต่รถไฟจากไทยไปลาว 14 ชั่วโมง จากลาวไปจีนประมาณ 8 ชั่วโมง ดังนั้นใช้เวลาขนส่งสินค้าทางรถไฟประมาณ 24 ชั่วโมง สินค้า เช่น ทุเรียน หากไปช้าจะมีปัญหา ตอนนี้จะเอาสินค้าเกษตร เช่น ทุเรียน สินค้าปิโตรเคมีของไทยที่อยู่มาบตาพุด ส่งออกไปลาว-จีน และต่อไปจะส่งต่อไปยุโรป ทำให้ง่ายขึ้น เนื่องจากจีนส่งออกทุกเดือนอยู่แล้ว เส้นทางด้วยรถไฟจะง่ายกว่า ประเด็นน้ำมัน การส่งสินค้าด้วยรถไฟครั้งหนึ่ง ขนสินค้า 1 หัวจักร ประมาณ 30-60 ตู้ ใช้คนขับ 2 คัน แต่ถ้าไปรถยนต์จะใช้รถประมาณ 30-60 คัน การใช้รถไฟจะช่วยลดค่าน้ำมันไปได้โดยอัตโนมัติ, คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลดลง เมื่อก่อนนี้ทางบริษัทขนสินค้าทางรถยนต์ ประมาณ 200-300 คัน แต่เจอปัญหาการขนส่งทางบกจะช้า เพราะใช้คนขับเยอะ การจราจรติดขัด คนขับเหนื่อย เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทุกวัน กระทบต่อสภาพถนนพังด้วย
ประธานบริหารบริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต กล่าวถึงการขนส่งทางรางว่า พอเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาทางราง บริษัทตนอยู่ที่ระยอง ก็จะใช้รถไฟจากนิคมมาบตาพุดไปยังท่าเรือแหลมฉบัง 30 ตู้ยาว หรือ 60 ตู้สั้น ไม่ต้องใช้รถ 60 คันเหมือนเมื่อก่อน แต่ใช้รถไฟคันเดียวจบ ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทเปลี่ยนมาใช้บริการขนส่งทางรางหมดแล้วทุกเส้นทาง แต่ปัญหาที่พบ บางทีรถไฟยังปรับตัวไม่ทันกับเอกชน เพราะรถไฟไม่คาดว่าจะมีการใช้งานเยอะขนาดนี้ เอกชนต้องเข้าไปช่วยเหลือ เช่น เอกชนต้องลงทุนในสถานี ปรับพื้นที่คอนเทนเนอร์ยาร์ดเอง เทปูน ปรับพื้นเอง เพราะรถไฟขาดทุนและไม่มีงบประมาณตรงนี้
...
นายปัญญา กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลต้องการลดเครดิตคาร์บอนฯ ต้องการให้ใช้น้ำมันน้อยลง หรือต้องการให้รถบรรทุกไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ มากนัก ก็หันมาลงทุนกับรถไฟแทน เช่น พิจารณาว่าจังหวัดไหนมีการลงทุนมากน้อยเพียงใดก็ให้มีการเทปูน ทำ CY อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ แต่ตอนนี้พอไม่มีงบ รถไฟก็ทำอะไรไม่ได้ เอกชนต้องทำเอง ต้องเทปูนเอง เอาเครื่องจักรสำหรับยกของไปใช้เอง รัฐบาลต้องหันมาให้ความสนใจรถไฟเป็นหลักเพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทางบริษัทตนก็จะเอาน้ำมัน และเม็ดพลาสติก ขยายพื้นที่ไปที่ขอนแก่น และบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา.