ปัจจุบัน “จิ้งโกร่ง” แมลงวงศ์เดียวกันกับจิ้งหรีด กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง ทำให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย เช่นเดียวกับ นายจิระ จันทร์กลัด อายุ 54 ปี และ นางณรัฐนันท์ ฐานศรีละหาน อายุ 44 ปี สองสามีภรรยาที่ใช้พื้นที่บริเวณบ้านเลขที่ 5/3 หมู่ 6 ต.กฤษณา อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เลี้ยงจิ้งโกร่งประสบความสำเร็จส่งขายทั้งในและต่างประเทศ
นางณรัฐนันท์เผยว่า เดิมมีอาชีพทำไร่และเลี้ยงแพะ ส่วนสามีทำงานธนาคาร ช่วงหลังงานเริ่มอิ่มตัว จึงคิดหาลู่ทางขยับขยายทำอาชีพอื่นดูบ้าง พอดีมีเพื่อนทำฟาร์มจิ้งโกร่งส่งออกนอก เลยไปศึกษาดูงานและทดลองเลี้ยง
ช่วงแรกเลี้ยงแค่ 5 บ่อ ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามีตัดสินใจลาออกจากงานมาเลี้ยงจิ้งโกร่งเป็นอาชีพหลัก ก่อนขยายบ่อเพิ่มทั้งหมด 39 บ่อ และชักชวนเพื่อนบ้านเลี้ยงอีก 7 คน
การทำฟาร์มจิ้งโกร่งไม่มีอะไรยุ่งยาก แค่ลงทุนซื้อบ่อเลี้ยงสำเร็จรูปในราคา 1,250 บาท หรือจะทำเองก็ได้ จากนั้นซื้อไข่จิ้งโกร่งมา 2-3 ถ้วยในราคาถ้วยละ 150 บาท นำถาดไข่กระดาษมาวางในบ่อให้เป็นที่อาศัย
ตลอดระยะเวลาเลี้ยงจะให้หัวอาหารสำเร็จรูปเป็นหลัก แต่หากต้องการลดต้นทุนเสริมด้วยพืชผักใบเขียว เช่น ใบมันสำปะหลัง ใช้เวลาเลี้ยง 60-70 วันเท่านั้น
เทคนิคสำคัญคือก่อนจับ 3-4 วัน ต้องล้างท้องจิ้งโกร่งด้วยการให้ฟักทองเป็นอาหาร เพื่อให้จิ้งโกร่งมีรสชาติมันอร่อย ไม่มีกลิ่นหัวอาหารและพืชอื่นๆให้เสียอรรถรสในการกิน
วิธีจับจิ้งโกร่งง่ายนิดเดียวแค่เคาะให้มันออกจากถาดไข่ ใช้ถุงพลาสติกช้อนใส่ถังแล้วน็อกด้วยน้ำแข็ง ล้างและต้มในน้ำเดือด เสร็จแล้วแพ็กใส่ถุง ถุงละ 1 กก. มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่
ส่วนผลตอบแทนแต่ละบ่อจะได้จิ้งโกร่ง 20-25 กก. ขาย กก.ละ 160 บาท ต่อบ่อจะได้ราว 3,200 บาท หากขายยกฟาร์มเป็นเงินกว่า 120,000 บาท หักต้นทุนค่าหัวอาหารถือว่ารายได้ดีกว่าทำอาชีพอื่น
...
ข้อดีของการเลี้ยงจิ้งโกร่งเป็นแมลงที่ตัวใหญ่กว่าจิ้งหรีด ปีกและตัวไม่แข็ง กินง่าย เวลาทอดหรือทำอาหาร รสชาติมันอร่อยกว่าจิ้งหรีด เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ตลาดยังเปิดกว้างอีกมาก
อนาคตมีแผนจะจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองด้านตลาด.
สมพล พัฒนคุณานนท์