เกษตรกรบ้านเราแม้จะประสบความสำเร็จ ปลูกพืชได้ผลิตผล แต่บางครั้งกลับยังคงประสบภาวะขาดทุน มีหนี้มีสิน ส่วนหนึ่งเกิดจากขาดการจดบันทึกบัญชีต้นทุนรายรับรายจ่าย...ลืมบวกค่าแรง ค่าบริหารจัดการของตัวเอง

สำรวย บางสร้อย เกษตรกร ดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์มระดับประเทศ ประจำ ปี 2564 ถือเป็นอีกต้นแบบความสำเร็จ นำบัญชีมาเป็นวัคซีนแก้ความจน ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ แม้จะยังไม่สามารถปลดหนี้หลักล้านได้ทั้งหมด แต่ในเวลาแค่ 4 ปี เหลือหนี้อีกไม่เท่าไร

“หลายปีก่อนประสบปัญหาสุขภาพ ทำให้ต้องขายที่นา วัว รถไถ เพื่อมารักษาตัว จนเป็นหนี้หลักล้านบาท ถึงได้มองเห็นว่าต้องรัดเข็มขัดใช้จ่ายอย่างเป็นระบบระเบียบขึ้น จึงเริ่มหันมาใส่ใจกับการปรับลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน และต้นทุนในการทำนาให้ได้กำไร และมีเงินเหลือเก็บไว้ใช้หนี้ได้อย่างไร เลยไปขอคำแนะนำจากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ร้อยเอ็ด จนสามารถจดบันทึกบัญชี และนำข้อมูลทางบัญชีมาวิเคราะห์ วางแผนการผลิต”

สำรวย เกษตรกรไร่นาสวนผสม บ้านสวนปอ ต.หนองแคน อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด บอกถึงที่มาของการจดบันทึกบัญชีครัวเรือน... หลังจากการรักษาอาการเจ็บป่วย ปี 2560 ได้คำแนะนำการจดบันทึกบัญชีครัวเรือน พร้อมไปกับเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ของกระทรวงเกษตรฯ และศึกษาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรผสมผสานน้อมนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

...

เมื่อนำทั้งบัญชีครัวเรือน และเกษตรผสมผสานมาใช้ร่วมกัน ทำให้สามารถจดบันทึกบัญชี และนำข้อมูลทางบัญชีมาวิเคราะห์ วางแผนการผลิตทางการเกษตร กระทั่งปี 2561 ได้เป็นครูบัญชี พร้อมกับได้นำความรู้จากบทเรียนของตัวเอง มาถ่ายทอดให้แก่ชุมชนและเกษตรกรที่เข้ารับการอบรม สอนแนะการใช้นวัตกรรมการจดบันทึกบัญชีผ่าน Application SmartMe ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยได้เรียนรู้และนำไปทดลองใช้ด้วยตนเองจนเห็นผล เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรและคนทั่วไปได้มองเห็นความสำคัญของการจดบันทึกบัญชี

จากการจดบันทึกบัญชีอย่างต่อเนื่อง และนำข้อมูลทางบัญชีมาวางแผนการผลิตทางการเกษตรอย่างเป็นระบบในแต่ละปี จึงสามารถวางแผนปรับเปลี่ยนการทำการเกษตร จากเดิมที่ทำนาหว่าน 20 ไร่ หลังจากทำบัญชีทำให้ทราบต้นทุนการผลิตว่ามีต้นทุนสูงจากค่าปุ๋ยเคมี ได้ผลผลิตน้อย ไม่คุ้มกับการลงทุน จึงปรับเปลี่ยนจากการทำนาหว่านมาทำนาหยอด ที่ได้ผลกำไรมากขึ้น กระทั่งปรับเปลี่ยนอาชีพจากทำนาอย่างเดียว มาทำอาชีพเกษตรในลักษณะของการทำไร่นาสวนผสม

แบ่งพื้นที่นา 20 ไร่ เป็นการทำนาข้าว 10 ไร่ ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชผัก 6 ไร่ ทำประมง 2 ไร่ เลี้ยงสัตว์ 1 ไร่ และสร้างที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนและรักษาสิ่งแวดล้อมและขยายการปลูกพืชหลากหลายชนิดมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง ส่งผลให้มีรายได้หลายทาง จนปัจจุบันสามารถชดใช้หนี้สินจนเหลือน้อยลงไปมาก และสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินได้ดียิ่งขึ้น

“ในการดำเนินชีวิตไม่ว่าอาชีพอะไรก็ตาม บัญชีเป็นตัวชี้วัดที่ได้มาตรฐานที่สุดในเรื่องความสำเร็จ และเป็นวัคซีนที่แก้ความจนได้ดีที่สุด สะท้อนให้เห็นต้นทุนรู้รับ รู้จ่าย บัญชีจะเป็นกระจกให้เรา ในการยกระดับรายได้ลดหนี้สิน และสามารถเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานได้ ทำให้ลูกหลานได้เรียนรู้ว่า พ่อแม่ผ่านความยากลำบากมาอย่างไร และทำอย่างไรถึงประสบความสำเร็จขึ้นมาได้” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาบัญชีฟาร์มระดับประเทศ ประจำปีนี้ ให้ข้อคิดจากประสบการณ์ตัวเอง.

กรวัฒน์ วีนิล