จ.บุรีรัมย์ ผ่อนปรนให้อนุญาตค้าขาย จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการ “เปิดบ้าน ปิดเมือง” ป้องกันโควิด-19

จากกรณีที่ นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยรายงานผู้ป่วยสะสมรวม 13 ราย รักษาหายแล้ว 10 ราย เสียชีวิต 1 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 2 ราย อยู่ระหว่างเฝ้าระวังจำนวน 39 ราย จากจำนวนยอดสะสมทั้งหมด 324 รายและมีจำนวนกลุ่มเสี่ยงที่กักตัวที่บ้าน ที่อยู่ระหว่างเฝ้าระวังจำนวน 7,685 คน จากจำนวนสะสมทั้งหมด จำนวน 47,132 ราย ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดบุรีรัมย์ได้บูรณาการทุกภาคส่วนได้คัดกรอง ป้องกัน เฝ้าระวังอย่างเข้มข้นมาอย่างต่อเนื่องทำให้ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2563 ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่อีกเลย สอดคล้องกับเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด


ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ได้มีการกำหนดมาตรการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในการประกอบอาชีพค้าขาย จำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จและผลิตผลทางการเกษตร รวมไปถึงการเปิดบริการร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์หรือมีส่วนผสมแอลกอฮอล์ สำหรับใช้พิจารณายกเลิกมาตรการที่ใช้ควบคุมสถานการณ์ฯ โดยจังหวัดบุรีรัมย์จะเริ่มมาตรการดังกล่าวในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ประกอบด้วย

...


1. มาตรการ เปิดบ้าน จังหวัดบุรีรัมย์จะอนุญาตให้เปิดตลาดนัด ถนนคนเดิน เฉพาะอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จและผลิตผลทางการเกษตร รวมถึงการให้เปิดบริการร้านอาหาร และเครื่องดื่มที่ไม่ใช้แอลกอฮอล์ หรือมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ อนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการรถเร่ ซึ่งจำหน่ายอาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ กลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง โดยผู้ประกอบกิจการและผู้บริโภค จะต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง (สำหรับบุคคลต่างด้าว) ที่มีเครื่องหมายแสดงการปลอดเชื้อโควิด-19 ให้ร้านอาหารจัดที่นั่งสำหรับรับประทานอาหารให้เป็นไปตามแนวทาง BURIRAM HEALTHY MODEL อย่างเคร่งครัด

2. มาตรการ ปิดเมือง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดของของเชื้อโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง โดยกำหนดให้บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปที่พักอาศัยอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ว่าจะอยู่ภูมิลำเนาใดก็ตาม รวมถึงผู้ที่ได้กักกันตนเองครบ 14 วัน พ้นระยะติดต่อของโรคแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป จะได้รับเครื่องหมายสติกเกอร์ แสดงการปลอดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ติดที่บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง (สำหรับบุคคลต่างด้าว) หากได้รับสติกเกอร์แล้ว เดินทางออกนอกเขตจังหวัดบุรีรัมย์เจ้าหน้าที่จะดึงออกทันที และเมื่อกลับสู่จังหวัดบุรีรัมย์ จะต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวตามแนวทางควบคุม ป้องกันโรคจึงจะได้รับสติกเกอร์ใหม่ หากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบแล้วไม่พบสติกเกอร์ดังกล่าว บุคคลนั้นต้องได้รับการกักกันตนเอง ณ สถานที่ และระยะเวลาตามที่จังหวัดบุรีรัมย์กำหนด

...


โดยที่สนามช้างอารีนา อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด มอบฉากกันระหว่างบุคคล จำนวน 10,000 ชุด ให้กับผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ เพื่อนำไปมอบให้เป็นต้นแบบแก่ร้านค้าที่จำหน่ายอาหารแบบนั่งรับประทานที่ผ่านกระบวนการขออนุญาตเปิดจำหน่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อลดความเสี่ยง และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ตามแนวทาง BURIRAM HEALTHY MODEL อย่างเคร่งครัด


สำหรับรูปแบบร้านจำหน่ายอาหาร จะต้องจัดระยะห่างระหว่างบุคคล ภายในร้าน ภายในตลาด หากมีโต๊ะนั่งรับประทานอาหาร ต้องมีฉากกันระหว่างบุคคล ซึ่งสามารถทำเองโดยใช้วัสดุที่หาในท้องถิ่น โดยจังหวัดบุรีรัมย์ร่วมกับสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ได้จัดแสดงตัวอย่างการจัดร้าน การเว้นระยะห่าง การจัดตลาดให้เป็นตัวอย่าง ที่ด้านหน้าสนามช้างอารีนา ส่วนกระบวนการ ขั้นตอนการขออนุญาตเปิดร้านจำหน่ายอาหาร สอบถามรายละเอียดถามได้ที่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ ที่ว่าการอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์.

...