กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ จับมือ ภาคีเครือข่ายภาคอีสาน จัดงานรวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย ปี 62 “ผนึกกำลังสื่อสร้างสรรค์ สร้างนิเวศสื่อที่ดี” พร้อมมอบรางวัล “TMF Awards 2019”
วันที่ 28 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จับมือภาคีเครือข่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดงาน รวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย ประจำปี 2562 “ผนึกกำลังสื่อสร้างสรรค์ สร้างนิเวศสื่อที่ดี” นำเสนอนิทรรศการสะท้อนแนวคิดการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างนิเวศสื่อที่ดี ประกาศเจตนารมณ์แสดงพลังสื่อสร้างสรรค์ พร้อมมอบรางวัล สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ “TMF Awards 2019” ให้กับผู้ผลิตสื่อดีเด่นจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก
นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์สื่อที่ดีและการมีส่วนร่วมของทุกคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่าการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น จะไม่สามารถทำได้เลย หากปราศจากความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของคนในสังคม จากทุกภาคส่วน และทุกภูมิภาคในประเทศไทย งานรวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย จึงเป็นงานสำคัญที่สร้างปรากฏการณ์การรวมตัวหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อพื้นบ้าน สื่อวัฒนธรรม สื่อมวลชน และสื่อทุกแขนงเพื่อรวมพลังขับเคลื่อนให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม
...
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีวัตถุประสงค์หลัก คือ ส่งเสริมและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ ส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนมองบทบาทตนเองเป็นผู้สนับสนุน เสริมพลัง ประสานงาน และเอื้ออำนวยให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้น โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ ทุกคนสามารถที่จะช่วยกันสร้างสรรค์สื่อ และมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในสังคมไทย
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างพลเมือง ว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมาเร็วและแรงมาก โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร ทำให้เราต้องปรับตัวให้ทัน ด้วยการทำให้พลเมืองมีสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน วิเคราะห์ได้ด้วยข้อมูลและเหตุผล แสดงออกด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ โดยการมีโอกาสที่จะตั้งคำถาม และแสดงทางความคิดเห็นอย่างอิสระ ปราศจากความกลัวที่ไม่สมเหตุผล แต่มีมิตรไมตรีซึ่งกันมากขึ้น เราควรใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาช่วยทำให้พลเมืองมีพลังทางความคิดที่จะตั้งหลักรับมือถ่วงดุลกับอำนาจของความไม่รู้ทั้งหลายเพื่อสร้างสังคมที่ตื่นรู้ ด้วยการสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ตั้งแต่ในบ้าน โรงเรียน สังคม จนสู่โลกที่กว้างใหญ่ไร้พรมแดน