“แม้ภาครัฐจะรณรงค์งดเผาตอซังอย่างต่อเนื่อง ยังมีชาวนาลักลอบเผา ไม่อย่างนั้นรถรับจ้างไถปรับหน้าดินจะปฏิเสธไม่รับงาน เพราะเสี่ยงตอซังข้าวพัน ทำให้ผาลไถหัก”

อ.อัดชา เหมันต์ สาขาเครื่องจักรกลอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ บอกว่า ผาลไถที่ชาวบ้านใช้งานติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาด 30-50 แรงม้า ส่วนใหญ่มีแต่ไถจาน ไถพรวนจาน และจอบหมุน เมื่อนำลงไปไถปรับหน้าดินในนาที่มีตอซังข้าวหนาแน่น

นอกจากตัวผาลไถจะไม่จิกลงหน้าดินตอซังและฟางข้าวยังเข้าไปติดพันที่ตัวเพลา ต้องเสียเวลาดึงฟางข้าวออก เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องมือเสียหาย ผาลไถแตก หัก ทำงานได้ช้าลง...เลยเป็นเหตุให้ชาวนาต้องหาทางออกด้วยการเผาตอซัง

ทั้งที่รู้ว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง...เพิ่มฝุ่นควันในอากาศ และทำให้จุลินทรีย์ แร่ธาตุในดินถูกทำลาย

...

เพื่อเป็นทางเลือกให้ชาวนา อ.อัดชา และทีมวิจัยจึงคิดออกแบบ ชุดไถหัวหมูสำหรับไถกลบตอซังข้าวติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก ที่สามารถเข้าทำงานในพื้นที่แปลงนาขนาดเล็กได้สะดวก โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัย

“เราเริ่มศึกษาออกแบบมาตั้งแต่ปี 2558 ได้ผาลไถชุดแรก แต่ยังไม่แข็งแรงพอ การไถหน้าดินไม่สม่ำเสมอ ไถดินลึกเกิน เป็นผลให้ดินด้านล่างที่มีความชื้นสูงถูกพลิกขึ้นมา ส่งผลให้การไถพรวนรอบ 2 รถแทรกเตอร์มักติดหล่ม เราจึงต้องปรับปรุงใหม่ จนเมื่อมกราคมที่ผ่านมาถึงจะได้ผาลไถหัวหมูรุ่นใหม่ออกมาในแบบต้นทุนไม่สูง อะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆหาซื้อได้ง่าย การซ่อมบำรุงไม่ยุ่งยาก”

เป็นผาลไถหัวหมูที่มีโครงไถกว้าง 120 ซม. คานสำหรับยึดติดใบไถแต่ละหัวยาว 200 ซม. สูง 60 ซม. น้ำหนัก 210 กก. มุมโครงไถ (หัวหมู) 66 องศา มีทั้งหมด 3 ผาล แต่ละตัวห่างกัน 75 ซม.

เมื่อนำไปทดสอบในพื้นที่นา จ.ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และขอนแก่น...ชุดผาลไถหัวหมูติดท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก สามารถไถกลบตอซังข้าวได้ชั่วโมงละ 2.5-3.5 ไร่ เกษตรกรสนใจสอบถามได้ที่ โทร.08-0009-8640.

...

เพ็ญพิชญา เตียว