ชาวบ้าน รวมถึงชาวไทยภูเขาที่แม่ฮ่องสอน แห่กดเงิน 10,000 บาท พร้อมไปหาซื้ออาหาร ของใช้ กันอย่างคึกคัก พบโทรศัพท์มือถือขายดีเกลี้ยงร้าน
วันที่ 27 ก.ย. 67 ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาแม่ฮ่องสอน ถ.ขุนลุมประพาส ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีประชาชนชาวไทยภูเขาและชาวพื้นบ้านจำนวนมากที่ลงจากดอย มารอคิวต่อแถวจนยาวเหยียด ทั้งภายในธนาคารและตู้เอทีเอ็ม เพื่อทำการตรวจเช็กเงินในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จำนวน 10,000 บาท ว่ามีเงินเข้าในบัญชีแล้วหรือไม่ และมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ทราบว่ามีเงินโอนเข้าบัญชีแล้ว พากันต่อแถวเพื่อถอนเงินสดนำไปใช้จ่าย
โดยผู้คนที่มาใช้บริการกันมากจนแน่นธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาแม่ฮ่องสอน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปิดประตูทางเข้ากันไว้ ปล่อยให้ผู้คนเข้าไปใช้บริการชุดละ 20 คน เพื่อป้องกันการแออัดภายใน พร้อมมีการจัดเจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งไปรับบัญชีการถอนเงินกับชาวบ้านที่ด้านหลังสำนักงาน
ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยที่มารอคิวเพื่อแสดงตนและทำการผูกพร้อมเพย์กับทางธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาแม่ฮ่องสอน และจากที่มีผู้คนจำนวนมากมารอใช้บริการทำให้บรรยากาศโดยรอบของธนาคารเป็นไปอย่างคึกคัก มีพ่อค้ามาเปิดขายลอตเตอรี่และขายอาหาร เครื่องดื่ม เป็นแนวยาวด้านข้างธนาคาร
...
ส่วนที่ธนาคารออมสิน สาขาแม่ฮ่องสอน มีผู้คนมาใช้บริการเบิกเงินสด ตรวจเช็กเงินในบัญชีและทำการผูกพร้อมเพย์กับทางธนาคารจำนวนมากเช่นกัน แต่เมื่อเทียบกับธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาแม่ฮ่องสอน แล้ว ยังถือว่าน้อยกว่ามาก ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินระบุว่า ในช่วงที่มีการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโอนเงินให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการผ่านมาแล้ว 2 วัน มีผู้มาใช้บริการวันละ 300 กว่าคน เป็นวงเงินที่ถูกเบิกถอนออกจากธนาคารวันละ 30 ล้านบาท เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่จะถอนเอาเงินสดครบตามจำนวน 10,000 บาท เพราะอ้างว่าบ้านอยู่บนดอยห่างไกลไม่สะดวกในการเดินทาง ซึ่งต้องใช้เวลานาน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานกันอย่างหนัก เพราะมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่อ่านไม่ออก และเขียนหนังสือไม่เป็น
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเมืองแม่ฮ่องสอน ต้องจัดเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจมาคอยสอดส่องดูความเรียบร้อย ป้องกันแก๊งทวงหนี้ แต่ก็เป็นไปด้วยดี
ส่วนบรรยากาศภายในตลาดสดเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน พบว่าคึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากชาวบ้านบนดอย หลังจากได้เงินแล้วพากันมาซื้ออาหาร และสิ่งของเครื่องใช้กลับบ้าน สิ่งหนึ่งที่ผู้นิยมซื้อกันมากไม่แพ้อาหารการกิน ก็คือ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งพบว่า บางร้านมีชาวบ้านมาหาซื้อโทรศัพท์มือถือ เครื่องละประมาณ 2,000 – 5,000 บาท จนเกลี้ยงร้าน.