"อาจารย์ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ" เผยที่มาแนวคิดสร้าง "หอศิลป์เทา" หวังผลักดันเป็นแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น พร้อมช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว
วันที่ 5 ก.ย. 2567 อาจารย์ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ ศิลปินชื่อดัง เป็นศิลปินงานจิตรกรรมและประติมากรรมแถวหน้าของเมืองไทย ได้เปิดหอศิลป์เทา ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 50 หมู่ที่ 6 ตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากวัดน้ำโจ้ไปประมาณ 100 เมตร ถือเป็นการเปิดให้เข้าทำข่าวครั้งแรก
อาจารย์ธงชัย เล่าที่มาแนวคิดที่กลับมาสร้างหอศิลป์เทาแห่งนี้ว่า แต่เดิมรับราชการอยู่กรุงเทพฯ 26 ปีเศษ ภายหลังได้ร่วมกิจกรรมสำนึกรักบ้านเกิด จึงคิดสะท้อนใจว่าควรกลับมาทำอะไรให้บ้านเกิดของตน ณ บ้านน้ำโจ้ หมู่ที่ 6 ตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มาบูรณะวัดน้ำโจ้ และสร้างหอศิลป์เทาขึ้น โดยได้ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2559 หลังจากทำบุญกับวัดได้สร้างหอไตร หอกลอง หอพระพุทธบำเพ็ญ และหอระฆังแล้ว จึงกลับมาสร้างหอศิลป์ได้แล้วเสร็จ เตรียมจะเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาชมงานศิลปะ ก็รวบรวมเอาผลงานต่าง ๆ มาจัดให้ได้ชม
...
แต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้เลื่อนออกไปจนมาถึงปัจจุบันนี้ จึงได้สร้างหอศิลป์ธรรมขึ้นอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แนวคิดสร้างหอศิลป์เทา มาจาก 2 ศิลปินแห่งชาติ คือ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่วัดร่องขุ่น เชียงราย และอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี มีพิพิธภัณฑ์บ้านดำ อยู่จังหวัดเชียงราย จึงได้นำทั้งสองมารวมกันเป็นหอศิลป์เทาแห่งนี้
สำหรับหอศิลป์เทา มี 2 ชั้น แสดงผลงานภาพวาดสีอะคริลิก น้ำเงินเป็นหลัก พร้อมรูปหล่อสำริดเป็นพุทธศิลป์ ผลงานที่ใช้เวลานานมาก และมีแรงบันดาลใจปั้นพระบรมรูปหล่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระบรมราชาภิเษก, รัชดาภิเษก และกาญจนาภิเษก ขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ซึ่งในช่วงปี 2556 เกิดล้มป่วยเส้นเลือดในสมองแตก เข้ารับการรักษาอยู่ในห้องไอซียู พักรักษาตัวฟื้นขึ้นมาเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้ขอว่าหากรักษาตัวออกไปครบ 32 ประการจะขอใช้ความสามารถปั้นพระบรมรูปของพระองค์ท่าน
ทั้งนี้ หลังจากหายปกติจึงได้เริ่มปั้นขึ้น แต่การปั้นใช้เวลานับปีตั้งแต่ปี 2557, 2558 และ 2559 ที่ยากมาก ทรงพระบรมราชาภิเษก ที่ต้องเก็บรายละเอียดเสมือนจริงทุกอย่าง ต้องได้เห็นของจริงแต่ได้มาจากภาพ ค่อยเก็บรายละเอียดจนแล้วเสร็จ ตามที่ได้ปรารถนาตนเอาไว้ ออกมาแล้วไม่ทุพพลภาพ ได้ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนที่ได้เข้ามาเยี่ยมชม
อย่างไรก็ตาม หลังจากหอศิลป์ธรรมได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเปิดให้สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมฟรี ใช้เป็นแนวทางการศึกษาชมศิลปะ พุทธศิลป์ แนวคิดต่าง ๆ แต่ช่วงนี้ก็มีผู้สนใจจะติดต่อเข้ามาขอชมเป็นหมู่คณะ นักเรียนนักศึกษา รวมไปถึงชาวต่างชาติมีความสนใจเดินทางมาขอเยี่ยมต่อเนื่อง แต่ไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการต้องแจ้งเข้ามาก่อน จะเปิดให้เข้าชมได้ ไม่เก็บค่าเข้าชมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของท้องถิ่น เรียนรู้ด้านศิลปะเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง ยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อีกด้วย.