วิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของการปรับตัวของเกษตรกร เพื่อความอยู่รอดในสังคมค้าขายในยุคปัจจุบัน ไม่จมปลักอยู่กับวิถีการทำเกษตรแบบเดิมๆ ที่ทำตามๆกันมาด้วยความเคยชิน

“ต.แม่ทา เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นพ่อรุ่นแม่จะทำเกษตรด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ยิ่งทำดินยิ่งเสีย ผลผลิตที่ได้ลดลง ต้องอัดเพิ่มปุ๋ยลงไปทั้งปี และต้องพึ่งพาสารเคมีมากขึ้น หลายคนเริ่มตระหนักถึงปัญหาสารเคมี จึงเริ่มลด ละ เลิก รวมกลุ่มเปลี่ยนให้มาเป็นผักผลไม้ปลอดภัย จนกลายเป็นเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิก”

สราวุธ วงศ์กาวิน เกษตรกรรุ่นใหม่ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค เล่าถึงที่มาของการปรับตัวในการทำเกษตรในยุคแรกของคนรุ่นพ่อแม่ ที่สามารถปลูกพืชผักจนได้ตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ IFOAM ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)

แต่กระนั้นการปลูกผักออร์แกนิกยังมีปัญหาในเรื่องตลาด เพราะสินค้าที่ผลิตได้ต้องนำไปขายในตลาดนัดสีเขียว ตลาดชุมชน ราคาและความต้องการสินค้าหาความแน่นอนไม่ได้ แถมสินค้าพืชผักนั้นเก็บได้ไม่นาน อย่างเก่งแค่ 5 วัน

...

“ปี 2560 ผมและเพื่อนๆได้รวมกลุ่มกันคิดหาวิธีแก้ปัญหา เราควรที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชผักออร์แกนิกแบบไหนดี ที่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งในเรื่องราคาที่ไม่แน่นอน ปลูกง่าย ดูแลรักษาไม่ยาก และมีอายุการวางจำหน่ายได้ยาวนาน ในที่สุดเราพบว่ามันหวานญี่ปุ่นน่าจะเป็นคำตอบที่ลงตัว อันดับแรกเลย ไม่มีใครปลูกกันเท่าไร น่าจะขายได้ราคา ราคาที่แน่นอน เพราะจากการสำรวจตลาดหาข้อมูล พบว่าตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะกลุ่มคนรักษ์สุขภาพ ระยะเวลาการปลูกถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลาเพียง 75-90 วัน แม้จะนานกว่าผักบ้าง แต่เก็บเกี่ยวแล้ว เก็บได้นาน 1 เดือน สามารถส่งไปจำหน่ายในที่ไกลๆได้ ไม่ต้องมีปัญหาเหมือนผัก”

สราวุธ เล่าถึงพัฒนา การปรับตัวในการทำเกษตรยุคถัดมา ที่มี 10 ครอบครัวนำร่องปลูกมันหวานญี่ปุ่น 2 สายพันธุ์ มันหวานญี่ปุ่นโอกินาวา (เนื้อสีม่วง) และมันหวานญี่ปุ่นโอกินาวา (เนื้อสีส้ม) เมื่อได้ผลผลิตออกมา ทดลองนำไปจำหน่ายทางออนไลน์ และตามตลาดกับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นคู่ค้ารับซื้อผักออร์แกนิกผลผลิตของทางกลุ่มอยู่แล้ว ปรากฏว่า ผลตอบรับออกมาดี

บังเอิญช่วงเวลาเริ่มต้นปลูกมันหวานญี่ปุ่น รัฐบาลยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐ มนตรี มีโครงการให้แต่ละจังหวัดตั้งบริษัทประชารัฐขึ้นมา โดยมีภาคเอกชน ให้การสนับสนุนทางกลุ่มเซ็นทรัล ได้สนใจที่จะสนับสนุนการผลิตสินค้าออร์แกนิกของวิสาหกิจชุมชนแม่ทาฯ

สนับสนุนทั้งในเรื่ององค์ความรู้การวางแผนการผลิตให้ได้มาตรฐาน ส่งเสริมการแปรรูป มีโรงคัดบรรจุและแปรรูปที่ได้มาตรฐาน อย.สนับสนุนรถขนส่งห้องเย็น พร้อมกับสร้างแบรนด์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่าย ภายใต้โครงการ “เซ็นทรัล ทำ” ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ

...

เมื่อมีเจ้าของซุปเปอร์มาร์เกตใหญ่ให้การสนับสนุน ตลาดมีความแน่นอน นับแต่นั้นมาการผลิตมันหวานญี่ปุ่นเริ่มขยายใหญ่ขึ้น จากเดิมที่ปลูกแค่ 2 สายพันธุ์ เพิ่มเป็น 4 สายพันธุ์ มีพันธุ์คุริโคกาเนะ (ผิวมันสีขาว เนื้อสีเหลือง) กับพันธุ์เบนิฮารุกะ (เนื้อสีส้ม) เพิ่มเติมขึ้นมา

และจากเดิมมีสมาชิกปลูกแค่ 10 ครอบครัว เพิ่มเป็น 120 ครอบครัว พื้นที่ปลูกจากเดิม 100 ไร่ เพิ่มเป็น 400 ไร่ และจากที่เคยผลผลิตปีละ 15 ตัน เพิ่มเป็น 100 ตัน ช่วยให้สมาชิกมีรายได้ร่วม 10 ล้านบาทต่อปี จากการส่งผลผลิตไปวางจำหน่ายทั่วประเทศ ผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด ที่ท็อปส์ และตลาดจริงใจ ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต รวมถึงแปรรูปเป็นมันหวานญี่ปุ่นทอดกรอบ จำหน่ายอยู่ที่ร้านกุ๊ด กุ๊ดส์ (Good Goods).

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม