ย้อนวันวานไม่นานนักไปตามกระแส ครม.สัญจร ที่อาณาจักรภูกามยาว หรือจังหวัดพะเยา เมืองรองท่องเที่ยว มีบทสรุป... เห็นชอบ 9 โครงการรัฐ 155 ล้านบาท...เอกชน 4 โครงการอีก 145 ล้านบาท ดึง “ท่องเที่ยว” มาดันบิ๊กโปรเจกต์ “ซอฟต์พาวเวอร์”

และ...บวกโครงการที่จะสร้าง “สนามบินดอกคำใต้” ชูพะเยาสู่เมืองท่องเที่ยวหลัก

หวนให้นึกถึงในอดีต...เดินตามรอยรัฐบาลปี 2531 เมื่อครั้งที่อนุมัติสร้างสนามบินระนอง ในรัศมีสนามบินภูเก็ต สนามบินชุมพร...ใกล้สนามบินสุราษฎร์ธานี 125 กิโลเมตร

แต่...สนามบินร้างเหมือนเบตง ยะลา แล้วยกสนามบินอุบลราชธานีเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ แล้วล้มเหลวแถมอาคารถูกไฟไหม้

มาครานี้หลายฝ่ายเกรงสนามบินดอกคำใต้ ซึ่งอยู่ใกล้สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย 89 กิโลเมตร ใกล้สนามบินเชียงใหม่ ลำปาง น่าน แพร่ รัศมี 100 กิโลเมตรเศษ...จะซ้ำรอย จึงโยนให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาความเป็นไปได้ก่อนตอกเสาเข็มก่อสร้าง

กล่าวกันว่าการประชุมเร่ร่อนสัญจรวันนั้น...ชะรอยจะขับเคลื่อนพะเยา 1 ใน 55 จังหวัดรองท่องเที่ยวขึ้นชั้น “เมืองท่องเที่ยวหลัก”

...

เอาใจ?...รัฐมนตรีเจ้าภาพคนดังเป็นพิเศษ เช่น จะตั้ง ททท.พะเยา แยกจากเชียงรายปลายปีแล้วปั้นเป็น “ฮับ” ท่องเที่ยว เชื่อม สปป.ลาว ห่างเมืองหลวงเก่าหลวงพระบาง เมืองมรดกโลกแห่งอดีตอาณาจักรล้านช้าง 297 กิโลเมตร

กูรูผู้รู้ประวัติศาสตร์มองแล้วงง...น่านห่างหลวงพระบางทางรถยนต์ผ่านเมืองเงิน แขวงไชยบุรี แค่ 140 กิโลเมตร...ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง “สั้น” และ “เร็ว” กว่าด้านด่านบ้านฮวกฝั่งพะเยา แถมยังเคยเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเกลือธรรมชาติใต้ดินจากบ่อเกลือตามแนวเทือกเขาผีปันน้ำ

...มาแต่ครั้งน่านยังเป็น “นันทบุรีศรีนครน่าน” ก่อนควบรวมเป็นอาณาจักรล้านนา แล้วเหตุไฉน?...ถึงคิดจะตั้งพะเยาเป็นฮับข้ามหัวน่านเล่า?

อีกทั้ง ครม.สัญจรยังรับจะปรับโครงสร้างครีเอทีฟทัวริซึม ยกระดับสินค้าเกษตรให้ “พะเยา” กับ “แพร่”...เพิ่มคุณภาพวิถี “น่าน” สู่มรดกโลกกับหนุนมูลค่ากาแฟน่าน ส่วนพะเยาจะปรับโฉมสายวัฒนธรรมให้อยู่ในโครงข่ายซอฟต์พาวเวอร์ แล้วสุดฮอตสูบน้ำขึ้นดอยขจัดฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5

ละอ่อนดอกคำใต้อดตื่นเต้นไม่ได้ถึงอู้คำเมืองออกมา “หมู่เฮาจาวเหนือ ก่ ยินดีจ้าดนัก ถ้ายะแล้วสำเร็จ แต่ ก่ จะเสี้ยงใจ๋ หากเป๋นแค่ไฟไหม้ฟาง”

สมฤดี จิตรจง
สมฤดี จิตรจง

เอาล่ะ ไฮไลต์การยกฐานะพะเยาขยับขึ้นแป้น “เมืองท่องเที่ยวหลัก” จากเวที ครม.สัญจรหนนี้นั้น สมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการ ททท. ด้านตลาดในประเทศ มีมุมมองน่าสนใจ

เธอว่า...“มาตรการเที่ยวเมืองรองเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ต่อเนื่องจากชวนเที่ยววันธรรมดา ที่มุ่งดึงกลุ่มคนทำงานวันหยุดสุดสัปดาห์ เช่น บุคลากรสาธารณสุขหรือผู้อยู่เวรยาม มีโอกาสเลือกวันเดินทางหนีความแออัด และราคาประหยัดตลอดปี อีกทั้งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่น”

สมฤดี ย้ำว่า นี่จะเป็นการกระตุ้นท้องถิ่นให้เกิดการตื่นตัว และพร้อมจะพัฒนาปัจจัยพื้นฐานขึ้นมารองรับคู่ไปกับ ททท.ซึ่งรับหน้าที่ทำตลาดท่องเที่ยวระดับชาติในทุกมิติ

“ตัวอย่างอดีตเชียงรายเคยบ่นน้อยใจเชียงใหม่ ที่ก้าวหน้ามีนักท่องเที่ยวมากมายแต่เชียงรายไม่มี ทั้งที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากพอกัน คนขายทัวร์โต้แย้งเพราะเชียงรายขาดสิ่งอำนวยความสะดวก

...กลายเป็นปัญหาไก่กับไข่อันไหนเกิดก่อนกัน จนวันหนึ่งเชียงรายมีโรงแรม ร้านอาหาร บริการนำเที่ยว สนามบินแม่ฟ้าหลวง นักท่องเที่ยวจึงหลั่งไหลไม่แพ้เชียงใหม่”

ตัวอย่างเพิ่มเติมคือ “กระบี่” กับ “พังงา” เคยมองภูเก็ตอย่างอิจฉา ขายทริปวันเดย์ทัวร์เที่ยวเกาะพีพี เกาะปันหยี แล้วกลับไปนอนสบายจ่ายเงินภูเก็ต เอกชนที่นั่นไม่ทนจึงฮึดสู้ลงขันไปร่วมงานส่งเสริมการขายงานท่องเที่ยวระดับโลก ไอทีบีที่แฟรงก์เฟิร์ต กับดับเบิลยูทีเอ็มที่ลอนดอน

ทำให้ “กระบี่” และ “พังงา” กลายเป็นจุดขายใหม่นอกเหนือภูเก็ตและติดตลาดโลกจนวันนี้

...

เมื่อพูดถึงอีสาน...มีจังหวัดชายแดนแห่งหนึ่งเจ้าเมืองเพิ่งย้ายมา สนใจจะใช้ท่องเที่ยวเป็นทางเลือกส่งเสริมพื้นที่ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวหลากชนิด ตั้งเป้านักท่องเที่ยวปีละหนึ่งล้านคน

จึงมอบ ททท.สำนักงานสาขาเป็นเจ้าภาพ ศึกษาข้อมูลแล้วระบุทั้งจังหวัดมีโรงแรมทุกระดับ 700 ห้อง เที่ยวบินจากกรุงเทพฯวันละเที่ยว 120 ที่นั่ง รถทัวร์ 2 เที่ยว 80 คน

สมมติฐานวันหนึ่งมีผู้ใช้เต็มทุกที่นั่งบวกมารถส่วนตัวพักบ้านญาติกับทัศนาจรไม่พักค้างคืนราว 2 พันคน...เดือนหนึ่งจะมีคนมาเยือน 6 หมื่นคนเท่ากับ 7.2 แสนคนต่อปี

“เมื่อได้โจทย์ให้แก้สมการ” สมฤดี ว่า “ก็ต้องเขียนแผนการขายร่วมรัฐกับเอกชนผู้มีส่วนได้ โดยเริ่มตั้งแต่การผลิตสื่อแนะนำแหล่งท่องเที่ยว เช่น โปสเตอร์ แผ่นพับ โซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างการรับรู้”

นอกจากนี้ไปร่วมงานอีเวนต์และงานแฟร์ส่งเสริมการขายภายในและภายนอกภูมิภาค การเชิญสื่อทุกแขนงมาดูเพื่อนำไปถ่ายทอดต่อและชวนทัวร์เอเย่นต์มาทดสอบก่อนนำไปเขียนโปรแกรมเสนอขาย โดยจอยต์เวนเจอร์งบประมาณดำเนินการจากรัฐกับเอกชน

...

วิธีนี้...เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนขยายการลงทุน ซึ่งหมายถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นด้วย...จังหวัดอีสานที่ว่าทำสำเร็จมาแล้ว

ตอกย้ำสำหรับการประชุม ครม.นอกสถานที่จังหวัดพะเยา ททท.ได้จัดทำข้อมูลสถานการณ์ท่องเที่ยว (พะเยา) ปี 2566 เสนอคณะรัฐมนตรีให้ทราบเพื่อประกอบการพิจารณา ส่งเสริมเมืองรองพะเยาเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก พอจะสรุปได้ว่า...

ปีที่แล้ว “พะเยา” มีผู้เยี่ยมเยือนหนึ่งล้านคน เป็นนักท่องเที่ยว 5.12 แสนคน พักโรงแรมร้อยละ 89.10 บ้านญาติร้อยละ 10.30 นักทัศนาจร 4.97 แสนคน ทำรายได้ 2.29 ล้านบาท มาโดยรถทัวร์กรุงเทพฯกับเชียงใหม่สัปดาห์ละ 105 เที่ยว รถตู้เชียงราย แพร่ ลำปาง สัปดาห์ละ 105 เที่ยว

ปัจจัยหนุนมีธรรมชาติ วัฒนธรรม วิถีชุมชนกับสินค้าคุณภาพ กิจกรรมกลางกว๊านและบนดอย อุปสรรค...เที่ยวได้ตามฤดูกาล มีฝุ่นพิษ ขาดระบบการขนส่งที่ดี และเป็นได้แค่เมืองผ่าน

นอกจากนี้ยังได้บรรจุบทวิเคราะห์ศักยภาพและแนวโน้มกับเสถียรภาพท่องเที่ยวพะเยา โครงสร้างพื้นฐานต่อการเดินทางเข้าถึงโอกาสตลาดกับการเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวไว้อีกด้วย

ประเด็นสำคัญสุดท้ายที่ “คนไทย” ควรรู้...ที่นี่คือแผ่นดินที่ 3 กษัตริย์ คือ พ่อขุนเม็งราย พ่อขุนงำเมือง และพ่อขุนรามคำแหง ทรงยืนหันหลังพิงกันริมฝั่งแม่น้ำอิง สัญญาจะรวม 3 อาณาจักร คือล้านนา ภูกามยาว สุโขทัย เป็นหนึ่งเดียว...โดยไม่แบ่งขั้ว แบ่งสีใดใดทั้งนั้น.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม