โผล่อีก ฟ้องละเมิดสิทธิบัตร "มีดเลาะตาสับปะรด" ชาวบ้านตำบลนางแล อ.เมือง จ.เชียงราย แหล่งปลูกใหญ่ บอกคิดค้นประดิษฐ์เป็นคนแรก แต่มีคนที่ยะลานำไปจดสิทธิบัตรไล่ฟ้องดะ เรียกค่าเสียหายครึ่งแสน ล่าสุดศาลยกฟ้อง อยากให้เป็นอุทาหรณ์ คิดค้นประดิษฐกรรมใหม่ได้ ให้รีบจดสิทธิบัตร

วันที่ 16 ก.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีที่ชุมชนบ้านโป่งน้ำตก-โป่งพระบาท-บ้านแม่ภูคา-ร่องปลาค้าว ต.บ้านดู่ และ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหมู่บ้านและตำบลที่มีการปลูกสับปะรดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เป็นต้นกำเนิดสับปะรดภูแล และนางแล ซึ่งสับปะรดภูแลจะมีจุดเด่นที่มีขนาดลูกเล็กเมื่อก่อนจะใช้แต่มีดในการเลาะตาสับปะรด ทำให้คนในชุมชนได้คิดหาทางที่จะใช้อุปกรณ์ในการเลาะตาสับปะรดให้รวดเร็ว ต่อมามีคนค้นคิดใช้ช้อนดัดแปลง มีด้ามจับ ซึ่งก็สามารถเลาะเอาตาสับปะรดได้เร็ว จากที่คนงานใช้มีดเลาะตาได้วันละ 40 กก. แต่เมื่อมีการคิดค้นมีดเลาะสับปะรดได้ ทำให้ปอกลูกสับปะรดได้วันละ 80 กก. แต่คนในชุมชนไม่ได้จดสิทธิบัตรไว้ เพราะติดที่ขั้นตอนยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายสูง จนกระทั่งมีคนนำไปจดสิทธิบัตรได้ที่ จ.ยะลา แล้วนำกลับมายื่นโนติส เรียกค่าสิทธิบัตรกับคนในชุมชนบ้านโป่งน้ำตก ทำให้พ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ต้องเสียเงินกันรายละ 3-5 หมื่นบาท เพราะไม่อยากไปต่อสู้ในชั้นศาล

...

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังบ้านนายเรวัฒน์ เรือนสังข์ (ผู้ผลิต) บ้านเลขที่ 138 ม.7 ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พร้อมกับนาย ร.ต.อ.ไพชยนต์ ดอนลาว ตำรวจสภ.เมืองเชียงราย คนจุดประกายทำมีดเลาะตาสับปะรด ร.ต.อ.ไพชยนต์ เผยว่า เมื่อช่วงปี 2553 ได้สั่งซื้อสับปะรด 500 บาท พร้อมรับประทาน เพื่อนำไปแจกในงานแข่งขันจักรยานเสือภูเขาบ้านดู่ภูแล เชียงราย ครั้งที่ 1 ซึ่งตามปกติจะต้องใช้เวลาในการปอกนาน นายเรวัฒน์จึงไปหาวิธีเพื่อที่จะปอกสับปะรดได้รวดเร็ว อีกทั้งจะได้ให้โรงงานปอกสับปะรดได้ใช้อีกด้วย 

กระทั่งนายเรวัฒน์คิดใช้ช้อนมาทุบทำที่เลาะตาสับปะรดได้ตามที่ ร.ต.อ.ไพยนต์ สั่ง และสามารถปอกเสร็จทันวันงาน มีการนำไปปอกโชว์ในงานวันดังกล่าวด้วย ซึ่งต่อมามีคนในชุมชนริเริ่มดัดแปลงทำกันมาเรื่อยๆ กระทั่งมีผู้ทำมีดเลาะตาสับปะรดขายประมาณ 7 ราย ที่สามารถทำมีดเลาะตาสับปะรดได้ พร้อมนำออกจำหน่ายทั่วประเทศ ส่งขายทางออนไลน์อีกด้วย ซึ่งทางนายเรวัฒน์ที่เป็นคนริเริ่มคนแรก ก็ได้ไปขอจดสิทธิบัตรเมื่อ 2553 แต่ทางเจ้าหน้าที่พาณิชย์จังหวัดเชียงราย แนะว่าหากมีการจดสิทธิบัตรต้องใช้เป็นเงินจำนวนมาก และเห็นว่าเป็นช้อน ซึ่งเป็นของใช้ในครัวเรือน ทุกคนก็สามารถทำใช้ได้ นายเรวัฒน์จึงไม่ได้ดำเนินการต่อ กระทั่งมีคนในชุมชนใกล้เคียงไปจดสิทธิบัตร เมื่อปี 2559 ซึ่งก็สามารถจดได้ แต่มีคนในชุมชนที่ทำขายเหมือนกัน ได้ไปร้องคัดค้าน เนื่องจากมีนายเรวัฒน์เป็นคนคิดได้คนแรก ซึ่งทำให้คนในชุมชนใกล้เคียงยอมล่าถอย ยกเลิกการจดสิทธิบัตรไป

กระทั่งประมาณเดือน มี.ค. 65 หรือ 15 เดือน ที่ผ่านมา กลับพบว่าสิทธิบัตรมีดเลาะตาสับปะรดไปโผล่ที่ จ.ยะลา และไล่ยื่นฟ้องผู้ที่ทำมีดเลาะตาสับปะรดเกือบทุกรายในชุมชน และคนจดสิทธิบัตรได้ไปเห็นเพจของลูกชายนายเรวัฒน์โพสต์ขายทางออนไลน์ ทำให้นายเรวัฒน์และครอบครัวถูกยื่นโนติสมาจากจังหวัดยะลา เรียกค่าละเมิดสิทธิบัตร 50,000 บาท โดยขู่ว่าถ้าไปต่อสู้ในชั้นศาลจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านี้ และยังมีอีกหลายรายที่ถูกยื่นโนติส และยอมจ่ายเงิน เพื่อแลกกับการไม่มีเรื่อง ซึ่งลูกของนายเรวัฒน์ ขอต่อสู้ในชั้นศาล กระทั่งศาลได้ตัดสินเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา ให้ยกฟ้อง แต่ทางลูกชายนายเรวัฒน์ ต้องรอดูว่าอีกฝ่ายจะมีการยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งหลังจากนั้นจะได้ไปขอยื่นถอดถอน เพื่อจะให้เป็นของคนในชุมชน ต.บ้านดู่ และนางแล ใช้ประกอบทำอาชีพต่อไป 

นายเรวัฒน์ กล่าวว่า อยากจะให้เป็นอุทาหรณ์และเป็นแนวคิดกับผู้ที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาว่า ควรจะไปจดสิทธิบัตรไว้ก่อน หากพลาดจะถูกยื่นโนติส เสียเงินมากกว่าที่จะเสียเงินค่าขอจดสิทธิบัตร