นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) เผยว่า นับแต่ปี 2553 สวพส.ได้นำโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลองเข้าไปในพื้นที่สูงใน 6 อำเภอของจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา และปี พ.ศ.2555 ได้ร่วมกับเกษตรกรและหน่วยงานเครือข่ายแก้ไขปัญหาการปลูกกาแฟที่ให้ผลผลิตค่อนข้างตํ่า การแปรรูปเมล็ดกาแฟไม่มีคุณภาพ เพราะขาดความรู้ในการปลูกและกระบวนการแปรรูปกาแฟที่ถูกต้อง ทำให้เกษตรกรถูกกดราคาและปฏิเสธการรับซื้อ และยังพบการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกินเป็นวงกว้าง ทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มจาก 4.27 ล้านบาท ในปี 2556 เป็น 46.43 ล้านบาท ในปี 2566 โดยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 205,442.47 บาท/ครัวเรือน/ปี จากเดิมที่เคยได้เฉลี่ยแค่ 50,000 บาท/ครัวเรือน/ปี ระยะเวลาเพียง 13 ปี ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว

“สำหรับแนวทางการดำเนินงาน เรานำหลักการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแบบโครงการหลวง มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นเข็มทิศในการดำเนินงาน มีการปรับระบบการผลิตจากการปลูกกาแฟกระจายทั่วไปในพื้นที่ว่างหรือปลูกในแปลงปลูก มาเป็นการปลูกภายใต้ร่มเงาไม้กว่า 2,700 ไร่ พร้อมนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากงานวิจัยมาใช้ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การแปรรูป การจำหน่ายกาแฟคุณภาพที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานพัฒนา ด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงแก่ชุมชนและเกษตรกร ด้วยการจัดให้มีเวทีรับฟังปัญหาความต้องการของเกษตรกร ชุมชน เพื่อค้นหาสาเหตุ วิเคราะห์ หารือร่วมกันถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีการสร้างเกษตรกรผู้นำให้เป็นต้นแบบความสำเร็จที่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ และประสานความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่โครงการกับเกษตรกรรายอื่น”

...

ผอ.สวพส.เผยอีกว่า ผลจากการดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เกษตรกร 226 ราย จาก 13 หมู่บ้าน ยังได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร ทำให้มูลนิธิโครงการหลวง บริษัทกาแฟชาวไทยภูเขา บริษัท ปตท.นํ้ามันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัทบอนคาเฟ่ และพ่อค้าในท้องถิ่น เข้ามารับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาเฉลี่ยปีละ 360-500 ตัน

นอกจากนี้ การปรับระบบมาปลูกกาแฟอาราบิกาใต้ร่มเงาไม้ 2,771 ไร่ และการผลิตภายใต้แนวคิด Zero Waste ทำให้เกษตรกรนำเปลือกกาแฟที่เหลือทิ้งไปผลิตปุ๋ยหมัก แล้วนำกลับมาใช้ลดต้นทุนการผลิตได้มากถึงปีละ 25 ตัน เกษตรกรมีเงินออมเฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาท/ปี และการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกตามความเหมาะสมของพื้นที่ ได้เพิ่มพื้นป่าให้ชุมชนโดยรอบมากกว่า 1,300 ไร่.

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม