ย้อนหลังไปเมื่อครั้งจีนมีการปฏิวัติการเมืองและวัฒนธรรมครั้งใหญ่ พลพรรคก๊กมินตั๋งส่วนใหญ่อพยพหนีภัยคอมมิวนิสต์เข้าสู่เกาะไต้หวัน อีกส่วนหนึ่งหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแผ่นดินไทยทางตอนเหนือ หนึ่งในนั้นคือ ปู่หมื่น อันเป็นที่มาของชื่อดอยใน ต.แม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ปู่หมื่นเป็นชาวลาหู่ที่เป็นทั้งผู้นำในการอุทิศตนต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณให้แนวร่วม กระทั่งไม้ผู้นำส่งต่อสู่รุ่น 2 จาฟะ ไชยกอ

อาชีพหลักของชนเผ่าลาหู่ ณ ขณะนั้นปลูกฝิ่นเป็นหลัก จวบจนกระทั่งทั่วโลกบรรจุฝิ่นเข้าบัญชียาเสพติด เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเสด็จพระราชดำเนินมายังดอยแห่งนี้ พร้อมกับทรงส่งเสริมให้เปลี่ยนจากปลูกฝิ่นมาปลูกชาอัสสัม พร้อมให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่า ช่วยรักษาป่าต้นน้ำ ซึ่งจาฟะ ไชยกอ ก็สามารถปฏิบัติได้เป็นอย่างดีจวบจนวาระสุดท้าย สืบสานต่อมายังรุ่นที่ 3

“ได้สัมผัสกับชีวิตชาวเขาชาวดอยมาตลอด คุ้นชินกับการเก็บชา ตากชา ต้มชา อันเป็นกิจวัตรของชาวลาหู่มาตั้งแต่เด็ก กระทั่งเรียนจบการโรงแรมและการท่องเที่ยว จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะลูกของคุณพ่อจาฟะ และทายาทรุ่นที่ 3 ของปู่หมื่น จึงตั้งใจสานต่อปฏิญาณในการรักษาผืนป่าต้นน้ำ ควบคู่ไปกับสร้างความมั่นคงใน อาชีพ โดยเฉพาะอาชีพเกี่ยวเนื่องกับใบชา จึงระดมคนรุ่นใหม่ในพื้นที่พัฒนาดอยปู่หมื่นให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างความมั่นคงให้คนในพื้นที่มาจนปัจจุบัน”

...

จิราวรรณ ไชยกอ หรือ หยก ผู้นำชุมชนคนรุ่นใหม่ ที่เข้ามาพัฒนาชุมชนดอยปู่หมื่นให้เป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะการผลักดันในเรื่องของ Tea Tourism หรือทัวร์ชา ให้เกิดความยั่งยืนต่อชุมชน เล่าถึงการสานต่อปฏิญาณในการพัฒนาถิ่นเกิด...เริ่มจากปี 2549 นำพื้นที่โรงงานทำชาเก่ามาทำเป็นโรงแรมภูมณีลาหู่ โฮม โฮเทล หรือโรงแรมชนเผ่า เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวลาหู่รวมถึงชาวไทใหญ่ในพื้นที่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ได้มีความมั่นคงในอาชีพ พร้อมไปกับเป็นพื้นที่จัดแสดงวัฒนธรรมชนเผ่า รวมถึงประวัติดอย ปู่หมื่นให้คนทั่วไปได้รู้จักดอยแห่งนี้มากขึ้น

จากนั้นพัฒนาดอยปู่หมื่นให้เป็นท่องเที่ยวชุมชน จัดโปรแกรมท่องเที่ยว ก่อให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่ ต่อมาปี 2559 นำชาดอยปู่หมื่นมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการค้าขาย ภายใต้ แบรนด์อาปาที ภายใต้การบริหารงานโดยห้าง หุ้นส่วน จำกัด อาปาที ออร์แกนิก จากนั้นไปเรียนรู้เกี่ยวกับการชงชาแบบต่างๆ โดยเฉพาะแบบญี่ปุ่น เพื่อให้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับชาอย่างถ่องแท้

“เป็นธรรมดาของธุรกิจที่มีขึ้นมีลง แต่ก็เหมือนฟ้ามีตา ที่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีเอกชนเอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต เห็นถึงความตั้งใจของเรา จึงเข้ามาช่วยซัพพอร์ตหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นประสานงานกับสถาบันการศึกษา นักวิชาการ เข้ามาช่วยใช้เทคโนโลยีส่งเสริม อาทิ เก็บข้อมูลอุณหภูมิ ความชื้นที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาล ที่ทำให้สารอาหารในชาครบถ้วน มีการวิเคราะห์ข้อมูลว่าควรอบนานเท่าไร โดยใช้เทคโนโลยีไอโอที รวมถึงนำชาไปประกอบอาหารโดยเชฟมิชลิน เพื่อเพิ่มมูลค่า และร่วมกับสถาบันการศึกษาออกแบบโรงอบชาอัจฉริยะ ติดตั้งแสดงผลฐานข้อมูลอุณหภูมิและความชื้น รวมถึงโครงการธนาคารต้นกล้า เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกชากันมากขึ้นอันจะเป็นการเพิ่มรายได้”

ปัจจุบันจากการเข้ามาช่วยเหลือดังกล่าว สมาชิกทั้ง 96 ครัวเรือน 560 คน บนพื้นที่ปลูกชา 2,000 ไร่ ยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำ สร้างความสมดุลให้ธรรมชาติ และยังสามารถทำบัญชีพื้นฐานรายรับรายจ่าย ทำสื่อการตลาดได้เอง มีรายได้จากใบชาเพียงอย่างเดียวเดือนละ 6,000-7,000 บาท ยังไม่รวมรายได้จากการท่องเที่ยว ของที่ระลึก แปรรูปชา และอื่นๆ สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ 09-5679-7741.

กรวัฒน์ วีนิล