หลายองค์กรเคยตั้งเป้าจะคัดแยกประเภทขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งมีไม่ถึงครึ่งที่ทำได้ตามเป้า เพราะต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจและความมีวินัยของทุกคนในองค์กร ยิ่งถ้ายกระดับไปถึงขั้นการกำจัดขยะเป็นศูนย์ก็ยิ่งเป็นงานช้าง ต้องมีการวางแผน มีการลงทุน และการบริหารจัดการครั้งใหญ่

วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมขอร่วมแสดงความยินดีกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับรางวัลเกียรติยศประเภทผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจด้านการคำนึงถึงการจัดการและกำจัดขยะ จาก สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้านการรักษาและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การยกระดับคุณภาพชีวิต และการตอบแทนสังคม

โครงการพัฒนาดอยตุงฯใส่ใจด้านการจัดการขยะอย่างเป็นระบบมานานแล้ว และประสบความสำเร็จไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบ 100% ตั้งแต่ปี 2561 แต่ไม่เคยยื่นเสนอผลงานเข้าประกวดที่ไหน อย่างไรก็ตาม มีทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชนต่างๆมาศึกษาดูงานเพื่อนำไปเป็นแนวทางการจัดการขยะ จนกระทั่งสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรฯทราบข้อมูลจึงได้เสนอมอบรางวัลเกียรติยศดังกล่าวให้เองเมื่อเดือนที่ผ่านมา

...

ดอยตุงจากที่เคยปลูกฝิ่นกลายเป็นป่าอนุรักษ์กว่า 60,000 ไร่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของ จ.เชียงราย ทั้งยังมีธุรกิจที่เกิดจากการพัฒนาฝีมือของชุมชนจนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ DoiTung เช่น เสื้อผ้าทอมือ กาแฟ แมคคาเดเมีย ไม้ดอกไม้ประดับ

เมื่อมีการผลิตและการบริโภคย่อมก่อให้เกิดขยะตามมา แต่ละปีการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯก่อให้เกิด ขยะ 150 ตัน จึงเริ่มต้นโครงการจัดการขยะตั้งแต่ปี 2559 พนักงานทุกคนทุกระดับต้องมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง และเข้าใจปัญหาผลกระทบจากขยะ

โครงการจัดการขยะมีการคัดแยกขยะ 6 ประเภท ได้แก่ ขยะขายได้ ขยะย่อยสลายได้ ขยะพลังงาน ขยะเปื้อน ขยะห้องน้ำ และขยะอันตราย ขยะทั้งหมดจะถูกนำมารวมกันที่ศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่ภายในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ในชุมชนคัดแยกอีกครั้ง สุดท้ายจะแบ่งเป็นประเภทต่างๆมากถึง 44 ประเภทตามการใช้ประโยชน์ของปลายทาง

ขยะหลายประเภทที่แยกมาแล้วสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้โดยตรง เช่น กะลาแมคคาเดเมียนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนในการย้อมด้ายหรือผลิตกระดาษสา เศษผ้าบางส่วนนำไปตกแต่งกระเป๋าผ้าเพื่อเพิ่มมูลค่า ลังกระดาษนำมาตีเยื่อเพื่อใช้ผสมในกระบวนการผลิตกระดาษสา วัสดุเหลือทิ้งหลายอย่างจึงกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการผลิต สมกับคำว่าขยะเป็นทอง สร้างรายได้ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy

ปัจจุบันมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯได้ ขยายขอบเขตการดำเนินงานไปยังชุมชนโดยรอบกว่า 1,900 ครัวเรือน ซึ่งถือเป็นงานท้าทาย เพราะต้องขอความร่วมมือจากทุกชุมชนในการคัดแยกขยะ และผสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่

ตอนนี้ศูนย์จัดการขยะอย่างครบวงจรอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเครื่องล้างและเครื่องอัดขยะให้เพียงพอต่อปริมาณขยะระดับชุมชน และมีรถวิ่งเก็บขยะโดยแบ่งเป็นประเภทขยะในแต่ละวัน เพื่อให้การจัดการขยะทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น หากทำสำเร็จเมื่อไหร่ หมู่บ้านในดอยตุงจะกลายเป็นต้นแบบชุมชนที่ไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบอย่างแท้จริง

...

ไม่เพียงแค่ที่ดอยตุง แม้แต่การจัดกิจกรรมงานอีเวนต์ต่างๆที่ สำนักงานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี กทม. ก็มีการจัดการขยะไม่ให้เหลือสู่บ่อฝังกลบ เช่นงานล่าสุด “กาดกลางกรุง” เมื่อตอนต้นเดือน มีการแยกขยะเป็น 4 ประเภท 1.เศษอาหาร นำไปเป็นอาหารหมูไก่ และเป็นสารปรับปรุงดิน 2.ขยะเปื้อน นำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า 3.ขยะรีไซเคิล นำไปแปรรูปเป็นสินค้าใหม่ 4.ขยะพลังงาน นำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และแปรรูปเป็นสินค้าใหม่

นี่แหละที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดขาประจำสายรักษ์โลก มาช็อป ชิม ชิล เดินเที่ยวไม่มีขาด.

ลมกรด