“เที่ยวไทย”...อีกไม่กี่วันสิ้นปีได้ 160 ล้านคนครั้ง จาก “คนไทย” และ “ต่างชาติ” อยู่บ้านเราเที่ยวไทยหลังถูกโรคร้ายมรสุมไวรัส “โควิด-19” รังแก 2 ปีเต็ม แต่ไม่ “การ์ดตก” ถอดแมสก์ทิ้ง

“ไทยเที่ยวไทย”...สร้างกระแสเงินสะพัด 6.56 แสนล้านบาท ช่วยกู้เศรษฐกิจชาติและครัวเรือนที่อดอยากมานาน...สำคัญแต่ว่ารัฐควรรีบหา “สินค้า” ท่องเที่ยวมาอะเมซิ่งให้เกิดแรงจูงใจเดินทาง...ไม่ใช่เอาแต่ขายเป็นสินค้าเซียงกงอยู่นั่นแหละ?

หนาวปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ถึงเมืองไทยจะอยู่เขตร้อนแต่ภาคเหนือ ผนวกอีสานล้วนเป็นเทือกเขาซึ่งได้รับอิทธิพลอากาศหนาวจากเพื่อนบ้าน กลายเป็นชอฟต์เพาเวอร์ให้คนไทยแห่ไปเที่ยวเซลฟี่ขิงกัน... เกิดพฤติกรรมใหม่นักท่องเที่ยวทศวรรษนี้

ตรงดิ่งพุ่งเป้าไปที่ “นันทสุวรรณนคร” ในตำนานพระอัมภาค หรือโบราณอีกฉบับกล่าวถึง “นันทบุรีศรีนครน่าน” นครกลางเทือกเขาผีปันน้ำและหลวงพระบาง อาณาจักรล้านนาตะวันออกแต่อดีต...ปัจจุบันเรียกแต่เพียง “น่าน” ถูกแต่งเป็นวลี “น่าน...นะสิ” จากเพลงร่วมสมัย

...

วันเวลาผ่านไปทำให้น่านเป็นเมืองที่น่าห่วงเพราะมีป่าเหลือเพียง 60% ทั้งนี้ถูกแผ้วถางไปบ้าง กระนั้นก็ยังมีมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นมากมายให้อนุรักษ์...รักษาไว้กับชีวิตผู้คนที่กลมกลืนระหว่างคนเมืองกับชนเผ่า...ที่นี่จึงมีออร่าความเป็นเมืองน่าเที่ยวแบบฟินๆแก่คนยุคนี้ ที่เกิดมาครั้งหนึ่งต้องไปให้ถึงจงได้

โยธิน ทับทิมทอง ผอ.ททท.น่าน เข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้ที่กลัวว่ากระแส “ท่องเที่ยว” จะเป็นตัวทำลายให้ย่อยยับเหมือนกับหลายๆถิ่น...แต่ในมิติของจังหวัดน่านซึ่งมีต้นทุนต่อการรู้ค่าทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี กลุ่มวิถีชุมชนที่อยู่รวมกัน โดยเฉพาะพื้นที่อนุรักษ์เขตเมืองเก่า

ที่เตรียมยกฐานะเป็น “นครจุดหมายปลายทาง” สู่ความยั่งยืน จึงตระหนักรู้ถึงจิตใจผู้เป็นเจ้าของปฐพี และหน่วยงานที่รับผิดชอบก็พร้อมเป็นกำแพงขวางกั้นสิ่งเหล่านั้น “บ่ให้ใครทำลาย”

โยธิน ย้ำว่า กลยุทธ์การทำตลาดปีนี้ของ ททท.น่าน เช่นกัน ใช้กลยุทธ์ใหม่เน้นนักท่องเที่ยวเซ็กเมนต์ไฮแวลู่คือรับผิดชอบแหล่งท่องเที่ยวมากพอต่อการใช้พฤติกรรมอย่างรู้ค่าในทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนบวกเสริมสร้างสังคมให้น่าอยู่ อุ้มชูเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าสอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น...จังหวัด

ปี 2562 ก่อนโควิดระบาด สถานการณ์ท่องเที่ยวเมืองนี้เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปมีนักท่องเที่ยว 947,512 คนครั้ง โดยสัดส่วนคือคนไทย 98% ต่างชาติ 2% สร้างรายได้ 2,722 ล้านบาท

“การฟื้นตัวดีมาก...ตั้งแต่มกราคมถึงสิงหาคมมีคนเฮโลมาแอ่ว 834,382 คนครั้ง เพราะน่านเป็นจุดหมายที่หมู่เฮาจากหลายภูมิภาค...ฮักขนาด จึงทำรายได้ให้แล้วกว่า 1,909 ล้านบาท คาดการณ์...ปีนี้จะมีคนมาแอ่วมาเยือน 1,134,382 คนครั้ง สร้างเม็ดเงินถึง 2,910 ล้านบาท”

สำหรับปัจจัยหนุนที่สำคัญนอกจากน่านเป็นเมืองน่าเที่ยวน่าแอ่วแล้ว ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวก “หื้อ (ให้)” อย่าง “ปะล้ำปะเหลือ (มาก)” เช่น การเดินทางโดยทางบกสมัยนี้ไม่ทำให้ “ฮากแตก” เหมือนอดีต

สามารถเชื่อมต่อจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ ทางหนึ่ง กับ อ.เทิง จ.เชียงราย อีกทางหนึ่ง ทางรถไฟแบบรางคู่ที่มาถึงสถานีเด่นชัยสามารถเปลี่ยนเป็นรถยนต์สู่จุดหมายน่าน

ส่วนทางเครื่องบินท่าอากาศยานน่านมีรันเวย์ 3,000 เมตร ยาวพอจะให้เครื่องบินแบบโบอิ้ง 737 จุผู้โดยสาร 120 คน กับแอร์บัสจุผู้โดยสาร 200 คนแลนดิ้งได้ แต่ต้องลดที่นั่งลงตามโซเชียลดิสแทนซิ่ง

...

...ทุกวันมี 3 สายการบินบินจากเมืองกรุงถึงน่านด้วยเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษไปกลับวันละ 7 เที่ยวบิน ง่ายต่อการเดินทางเหมือนอยู่ใกล้เมืองหลวง...ที่พักน่านมีโรงแรมและรีสอร์ตอยู่กลางเวียง ไปจนถึงดงดอยใกล้ชายแดนแต่ไม่ทำลายบรรยากาศมุมเมืองและธรรมชาติป่าเขาให้อุจาด มากถึง 500 แห่งรวม 5,600 ห้อง

ไม่รวมถึงลานกางเต็นท์อีกต่างหาก เพียงเท่านี้ก็...“ซว่างอก ซว่างใจ๋ แล้วก๊ะ” (สบายอกสบายใจ)

ประตูท่องเที่ยวที่เป็นกุญแจดอกสำคัญของ “นันทบุรีศรีเมืองน่าน” โยธินมั่นใจในศักยภาพที่พร้อมรับนักท่องเที่ยว ไม่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมั่นคงปลอดภัยต่อชีวิต และไม่ชวนเที่ยวจนเพลินพลัดหลงป่าเขาเกิดปัญหาให้คนต้องออกระดมค้นหากันพัลวัน...เพราะมีกำลังเจ้าหน้าที่คอยดูแล

พร้อมปฏิบัติการทันทีที่มีข่าวร้ายเกิดขึ้น...นี่คือคำสัญญา

ถึงตรงนี้ลองมาดูเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้วางเอาไว้เต็มคาราเบลในหลายบรรยากาศ ให้เลือกเที่ยวได้ตามคอนเทนต์ของแต่ละบุคคลหรือหมู่คณะ อาทิ คนที่รักซอฟต์แอดเวนเจอร์สามารถสร้างซอฟต์เพาเวอร์ตัวเองไว้กับป่าเขา สายน้ำ โดยปักธงไว้ตรงนี้...ทำกิจกรรม “ล่องแก่งแม่น้ำว้า” ที่ไหลมาจากเทือกเขาหลวงพระบาง

...

...เป็นทางยาว 125 กิโลเมตร “จะอี้ (แบบนี้)” เงียบสงบหอมกลิ่นป่าเคมีช่างตรงกันกับคนที่มีตัวตน “ฮัก” ธรรมชาติอย่างแท้จริง

“คนสุนทรีกับไม้ดอก...เสน่ห์น่านปลายหนาวอยู่ที่ดงดอกนางพญาเสือโคร่งสีชมพู แต่ใครไม่รู้พยายามให้เป็นซากุระญี่ปุ่น ช่างงามแต้แลเห็นบนเส้นทางสู่อุทยานแห่งชาติขุนสถาน อำเภอนาน้อย...”

อีกด้าน “เหลืองอินเดีย” ถิ่นกำเนิดเม็กซิโกตอนเหนือบานคู่ “เหลืองเชียงราย” จากอเมริกาเขตร้อน แต่หา “ผ่อ (ดู)” ได้ยามนี้ที่ อ.ท่าวังผา ห่างตัวจังหวัดน่าน 46 กิโลเมตร

แหล่งเที่ยวอันถือว่าต๊าชสุดๆเหนืออื่นใด คือ...รูทท่องเที่ยวสาย อ.ปัว ที่ “ดอกทรงบาดาล” บานรับลมหนาวสองข้างทาง และแยกขวามือสู่ดอยภูคาจะพบ “ฉำฉาฟลาวเวอร์” คาเฟ่แนวใหม่ริมแม่น้ำปัว หลากสีด้วยดอกคัตเตอร์สีขาว แซมมากาเร็ตสีม่วงสุดคิวต์ กับดอกเวอร์บีนาขนาดนัก...

ข้างต้นที่ว่ามานี้ก็เคมีตรงกันกับกลุ่มที่ชอบเซลฟี่ตัวเองกลางทุ่งไม้ดอกเมืองหนาว

...

ต่อเมื่อถึงอุทยานแห่งชาติดอยภูคาช่วงหนาวจรดเดือนแห่งความรัก เป็นเวลาที่ดอกชมพูภูคากำลังแตกช่อบานตามกิ่งบนลำต้นสูง 10-20 เมตร ยากที่มนุษย์จะเอื้อมเด็ดดม และควรรู้ดอกไม้ชนิดนี้เดิมมีให้เห็นฝั่งจีนตอนใต้ เวียดนามตอนเหนือกับไต้หวัน...ปัจจุบันคงเหลืออยู่แห่งเดียวในโลกคือ “ดอยภูคา” เท่านั้น

ผ่านที่นี่ไป...จะเห็นดงดอยสลับซับซ้อนกับหมู่บ้านชนเผ่าและลานกางเต็นท์ ครู่ใหญ่ก็ถึง อ.บ่อเกลือ อยู่ในหุบเขาหลวงพระบาง มีที่ราบเพียง 15% ให้ประชากร 1.5 หมื่นคนทำกิน ที่นี่มีทรัพยากรสำคัญคือเกลือสินเธาว์ ที่ชาวหลวงพระบางกับจีนเคยต้องพึ่งบุญเลี้ยงคนในแผ่นดิน

โบราณนานมาแล้วดินแดนแห่งนี้เคยเกิดสงครามจากหัวเมืองต่างๆหลายครั้ง เพื่อหวังแย่งเป็นเจ้าของบ่อเกลือ แต่ไม่สำเร็จ....จึงเป็นแหล่งทำกินของชาวบ้านให้นักท่องเที่ยวมาแอ่วมาชมทุกวันนี้...

หนาวนี้ใกล้เข้ามาแล้ว ใครอยากเที่ยวอยากชิล “ไทยเที่ยวไทย” ก็ตรงดิ่งไปกันได้ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ “TAT NAN”.