สทน. จับมือ มรภ.เชียงราย เดินหน้ายกระดับอาหารพื้นบ้านล้านนา ด้วยนวัตกรรมอาหารปลอดภัยจาก "เทคโนโลยีฉายรังสี"


เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 65 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จัดกิจกรรมอบรมสัมมนาให้ความรู้ภายใต้หัวข้อเรื่อง "พัฒนาอาหารพื้นถิ่น สู่มาตรฐานสากล เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน ด้วยเทคโนโลยีฉายรังสี" เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการอาหารพื้นถิ่นในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง ได้เห็นโอกาสทางธุรกิจ



เชียงราย เป็นจังหวัดที่มีอาหารพื้นถิ่นและสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบ เช่น ไส้อั่ว น้ำพริกอ่อง ข้าว สับปะรด ฯลฯ ที่มีศักยภาพในการพัฒนา ด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการขยายช่องทางการตลาดได้ ทั้งนี้ "การฉายรังสี" เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในอาหาร ที่มาจากการแปรรูปเพื่อถนอมอาหารตามภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ อีกทั้ง "อาหารฉายรังสี" ยังเป็นมาตรฐานการบริโภคปลอดภัยที่สากลให้การยอมรับด้วย โดย ภายในงาน สทน. ยังได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการภาคเหนือ ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นเข้าร่วมโครงการ "การสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี" โดยผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ตั้งแต่ค่าขนส่งผลิตภัณฑ์มาทดลอง ค่าฉายรังสี ค่าตรวจวิเคราะห์เชื้อ รวมถึงค่าดำเนินการต่างๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ในระบบออนไลน์ โดยสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ตั้งแต่บัดนี้ ถึง วันที่ 15 ธันวาคม 2565

...

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้เรื่อง "การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารด้วยการฉายรังสี", Future Food Trend และงานพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในท้องถิ่น, "การขออนุญาต อย. กับอาหารพื้นถิ่น" และการบรรยาย เรื่อง "การตรวจสอบการเจือปนน้ำตาลในน้ำผึ้ง และน้ำผลไม้ ด้วยเทคนิควิเคราะห์ไอโซโทปเสถียร" รวมทั้งเสวนาพูดคุยกับผู้ประกอบการตัวจริงที่ประสบความสำเร็จด้วยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการฉายรังสี ได้แก่ คุณพรเทพ เทพเสนา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไทยอินโนฟู้ด จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ "แหนมสไลด์ แหนมตุ้มจิ๋ว" ตราสุทธิลักษณ์ และคุณวสันต์ กอบุตร กรรมการผู้จัดการบริษัท แคร์ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ "ฉัยรัย ปูไข่ดองฉายรังสี"



ทั้งนี้ สทน. จะเดินหน้าจัดกิจกรรมครั้งต่อไป ในวันที่ 9 พ.ย. โดยร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และในวันที่ 11 พ.ย. โดยร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามชมได้ผ่าน ทาง Facebook Live Fanpage และช่อง YouTube ของ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. ตั้งแต่เวลา 09.00 - 13.00 น.