การบุกรุกป่าเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน การแก้ไขต้องใช้ความละเอียดอ่อน เพื่อลดผลกระทบกับชุมชนที่อาศัยผืนป่าเป็นแหล่งทำมาหากินมาแต่อดีต

หลังจากรัฐบาลปลดล็อกกัญชา-กัญชงจากยาเสพติด สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน นำโดย นายกรัณย์พล แสงทอง ผอ. ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้ร่วมกันปลูกกัญชง พืชเศรษฐกิจตัวใหม่เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน

โดยจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) หมู่ 6 บ้านแม่จ๋า ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เนื้อที่ 7 ไร่ ปลูกกัญชง รวม 1,600 ต้น มี อบจ.แม่ฮ่องสอน สนับสนุนงบประมาณจัดหาต้นกล้า

นายกรัณย์พลกล่าวว่า การส่งเสริมปลูกกัญชงเป็นการดำเนินโครงการควบคู่กันระหว่างโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ของกรมป่าไม้ และโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนของรัฐบาล

ด้วยปัญหาเกษตรกรชาวแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่เพาะปลูกค่อนข้างน้อย จึงเลือกส่งเสริมให้ปลูกกัญชง เพราะมองว่าเป็นพืชที่ใช้พื้นที่น้อย แต่สร้างมูลค่าอัตราต่อไร่ค่อนข้างสูงมากกว่าพืชเชิงเดี่ยวชนิดอื่นที่ทดลองปลูกมาก่อน แต่มักประสบปัญหาราคาตกต่ำ ตลาดรับซื้ออยู่ห่างไกล

ขณะที่การปลูกกัญชงง่ายแก่การดูแลรักษา ราคาค่อนข้างสูง ได้มากกว่าปลูกข้าวโพดถึง 40 เท่า มีบริษัทวีอีโค จำกัด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับซื้อโดยตรง

การปลูกกัญชงเป็นการช่วยทั้งมิติของธรรมชาติ มิติวัฒนธรรม มิติสังคม และมิติทางด้านเศรษฐกิจ

เพราะกัญชงเป็นวิถีชีวิตของชาวเขา โดยเฉพาะชาวม้งที่สวมใส่เสื้อผ้าผลิตมาจากใยกัญชง ด้วยคุณสมบัติพิเศษของกัญชงที่มีสารต่อต้านแบคทีเรีย ทำให้เสื้อผ้าไม่ค่อยสกปรกและมีกลิ่น

แปลงปลูกกัญชงแห่งนี้ยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษา กศน.อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เข้ามาศึกษาและร่วมปลูกต้นกัญชง เป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้หลักสูตรการเรียนการสอนพืชกัญชา กัญชง ของ กศน.แม่ฮ่องสอน

...

มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยรักษาป่าไม่ให้ถูกบุกรุก เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงในเรื่องที่ดินทำกินให้กับประชาชน.

โชติ นรามณฑล