สถานการณ์ตามแนวชายแดน ตะวันตกของไทยกลับมาร้อนระอุอีกครั้งเมื่อ “กองทัพเมียนมาเปิดฉากเข้าโจมตีกองกำลังชนกะเหรี่ยง KNU จับมือกับกองทัพประชาชน PDF” ด้วยอาวุธหนักทางอากาศ และภาคพื้นดินกันทั้งวันทั้งคืนติดต่อกันมาหลายวัน
เหตุปะทะกันครั้งใหม่นี้ “ฉีกข้อตกลงเจรจาหยุดยิงทิ้งโดยสิ้นเชิง” แล้วหวนกลับคืนสู่สถานะเป็นพื้นที่การสู้รบระหว่าง “ทหารกองทัพเมียนมากับกองกำลังเคเอ็นยู” ที่ไม่เคยสงบนิ่งมายาวนานนับแต่ปี 2492 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงประกาศสงครามกับรัฐบาลทหารเมียนมาแล้วความขัดแย้งก็ได้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงวันนี้...การสู้รบที่ยาวนานนี้ทำให้ “ชาวเมียนมาอพยพหนีภัยสงคราม” จากชายแดนเมียนมาทะลักเข้ามาในไทย “จัดตั้งพื้นที่พักพิงชั่วคราว” ที่มีบางส่วนไม่อาจกลับบ้านได้จน “รัฐบาลไทย” ถูกกดดันการผ่อนปรนอนุญาตให้ผู้หนีภัยสงครามอาศัยในเขตไทยได้ชั่วคราวตามหลักมนุษยธรรม
ปัจจุบันมี “ผู้หนีภัยการสู้รบอาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง 4 จังหวัด” อย่างเช่น พื้นที่พักพิงชั่วคราว บ้านแม่ลามาหลวง อ.สบเมย พื้นที่พักพิงฯบ้านแม่ละอูน อ.สบเมย พื้นที่พักพิงฯบ้านใหม่ในสอย อ.เมืองแม่ฮ่องสอน พื้นที่พักพิงฯบ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่พักพิงฯบ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
...
พื้นที่พักพิงฯบ้านต้นยาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี พื้นที่พักพิงฯบ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ พื้นที่พักพิงฯบ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก โดยเฉพาะพื้นที่พักพิงฯบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เป็นศูนย์ขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 1 พันไร่ มีผู้หนีภัยราว 4 หมื่นกว่าคน เข้ามาอยู่กันยาวนานเกือบ 40 ปี มีแนวโน้มกลายเป็นบ้านถาวรแล้ว
ที่สำคัญมัก “มีปัญหาสุขภาวะและเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่พักพิงฯ” อย่างกรณีล่าสุดค่ำวันที่ 14 ธ.ค.64 “ผู้หนีภัยบ้านแม่หละนับพันคน” ก่อเหตุประท้วงจนเกิดการจลาจลบานปลายกลายเป็นบุกเผาทำลายทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ อาคารที่พัก และสำนักงาน...เสียหายเหลือแต่ซาก
เพื่อเรียกร้องย้าย หน.ศูนย์พักพิงบ้านแม่หละ อ้างว่าปฏิบัติหน้าที่เข้มงวดเกินไป พร้อมขอยกเลิกการล็อกดาวน์ภายในศูนย์พักพิงฯ เรื่องนี้ “ผู้ว่าฯ จ.ตาก” ลงนามคำสั่งย้าย หน.ศูนย์ฯไปปฏิบัติหน้าที่กลุ่มงานด้านอื่นแทน ส่วนการยกเลิกล็อกดาวน์ในศูนย์แห่งนี้ไม่อาจทำตามเรียกร้องได้ เพราะโควิด-19 ระบาดหนัก
เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทั้งในพื้นที่พักพิงฯ และภายนอกอย่างเข้มงวดเช่นเดิม ในเรื่องนี้ “การข่าวชายแดน” ให้ข้อมูลต้นเหตุผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละลุกฮือประท้วงหลังไม่พอใจว่า ชนวนปัญหาสะสมหลายเรื่องแต่ที่ชัดเจนมาจากในปีนี้ “ศูนย์พักพิงบ้านแม่หละ” เกิดการระบาดโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อ 100 กว่าคน...จนต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราว รองรับการกักตัวผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวแล้วผู้ป่วยสีเหลืองถูกส่งไปรักษายังโรงพยาบาลภายนอก เช่นนี้ทำให้ “หน.ควบคุมศูนย์พักพิงฯ” ออกมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 เข้มงวดมากยิ่งขึ้น “ห้ามผู้ลี้ภัยเข้าออกศูนย์พักพิงฯ เด็ดขาด” ด้วยการล็อกดาวน์พื้นที่ทั้งหมด
แล้วจัดกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และทหารเข้ามาประจำการเฝ้าเวรยาม 24 ชม.เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยลักลอบออกจากพื้นที่เหมือนอย่างที่เคยทำกันเป็นประจำปกติ เพราะมีความเสี่ยงรับเชื้อเข้ามาระบาดในศูนย์พักพิงฯก็ได้ แม้แต่เจ้าหน้าที่ที่ออกนอกเขตพื้นที่กลับเข้ามาก็ต้องตรวจคัดกรองหาเชื้อทุกครั้งด้วย
ทั้งยังออกมาตรการบังคับให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากที่พัก “บุคคลใดฝ่าฝืนต้องถูกกักตัว 2 สัปดาห์” ทำให้ผู้ลี้ภัยบางกลุ่มไม่พอใจ...แล้วผสมกับปัญหาเก่าหมักหมมสะสมกันมาอยู่เดิม
...
กระทั่งในระหว่าง “หน.ควบคุมศูนย์พักพิงฯ” ออกตรวจความเรียบร้อยบังเอิญพบ “ผู้ลี้ภัย 2 คนไม่สวมหน้ากากอนามัย” ขี่มอเตอร์ไซต์กลับจากภายนอกศูนย์พักพิงฯ มาพร้อมซื้อตู้เย็นขนาดเล็กราคา 1,700 บาท จึงได้ทำการเรียกสอบถามตักเตือน แต่กลับไม่ปฏิบัติตามแล้วเอามือขวางคว้าโดนตู้เย็นตกเสียหาย
เวลาไม่นาน “กลุ่มผู้ลี้ภัยราว 30 คน” ก็ออกมาเรียกร้องที่สำนักงานศูนย์พักพิงฯ “หน.ควบคุมศูนย์พักพิงฯ” ยอมจ่ายค่าเสียหายแต่ยังยึดรถจักรยานยนต์ 2 อาทิตย์...กักตัวผู้ออกนอกศูนย์ทำให้ไม่พอใจโต้เถียงยื้อยุดฉุดกระชากกันขึ้นแล้วมีการปล่อยข่าว “ผู้ลี้ภัยถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย” ไม่ได้รับความเป็นธรรม
จนบานปลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” กลายเป็นเหตุจลาจลในศูนย์พักพิงฯ ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ จุดไฟเผาอาคารสำนักงาน บ้านพักเจ้าหน้าที่ ป้อมจุดตรวจ อส. 12 จุด บ้านพัก อส.พังเสียหาย 38 หลัง ถูกไฟไหม้ 5 หลัง รถยนต์ 10 คัน จักรยานยนต์ 74 คัน
ผลสุดท้าย “เจ้าหน้าที่ถูกกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชน” แล้วก็ถูกย้ายเหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของหน่วยงานราชการ “เพื่อลดแรงเสียดทาน” ทั้งที่ความจริงการล็อกดาวน์ศูนย์พักพิงฯมีจุดประสงค์ป้องกันการระบาดโควิด-19 อันเป็นมาตรการที่ “คนไทย” ต้องทนปฏิบัติตามด้วยความลำบากกันมา 2 ปีด้วยซ้ำ
...
แต่ว่า “ผู้ลี้ภัยกลับอยากอยู่แบบอิสระ” ไม่ต้องถูกบังคับใช้ระเบียบในมาตรการป้องกันโรคระบาดนี้ ทำให้มองว่า “เรื่องนี้ก็ไม่เป็นธรรมต่อผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือไม่” เพราะถ้าโควิด-19 แพร่ระบาดในศูนย์พักพิงฯหนักรุนแรง “บุคคลต้องรับผิดชอบถูกลงโทษ” ก็คงหนีไม่พ้น หน.ควบคุมศูนย์พักพิงฯเช่นเดิม
จริงๆแล้ว “ระเบียบผู้ลี้ภัยไม่ได้รับอนุญาตออกนอกพื้นที่พักพิงฯ” หากหลบหนีออกมาจะถือว่าเป็นผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย...“ภาครัฐ” จะไม่ให้ความคุ้มครองในกรณีที่ถูกจับกุม ยกเว้นมีความจำเป็นอันเป็นการเจ็บไข้ได้ป่วยหนักต้องไปโรงพยาบาล หรือออกไปซื้อสิ่งของจำเป็นอนุโลมกันตามความเหมาะสม...ปัญหามีต่ออีกว่า “ผู้หนีภัยก็ไม่มีสิทธิออกไปประกอบอาชีพนอกพื้นที่พักพิงฯเช่นกัน” แต่ต้องยอมรับว่า “บางส่วนออกไปรับจ้างทำงานเป็นประจำ” ด้วยพื้นที่ศูนย์ฯพื้นที่กว้างเป็นพันไร่ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงกลายเป็นช่องให้มี “การลักลอบออกไปทำงาน” จนเป็นความเคยชินกันมาตลอด
ตอกย้ำนำมาสู่ข้อกล่าวหาว่า “จ่ายเงินค่าทำเนียมเข้าออก?” ลักษณะสมยอมกันเป็นค่าน้ำชากาแฟแลกกับปิดตาข้างเดียวให้เข้าออกค่ายได้ โดยเฉพาะโควิด-19 ระบาดที่มีการจำกัดผู้ลี้ภัยต้องอยู่ในค่ายเท่านั้น ฉะนั้น “ผู้จ่ายเงิน” มักมีสิทธิเข้าออกค่อนข้างเสรี “กลุ่มคนไม่จ่าย” จึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าออกจากค่ายไปทำงานได้...ซ้ำยังมีปัญหาถูกบังคับซื้อข้าวของเครื่องใช้ในร้านค้ารับอนุมัติในศูนย์ฯที่มีราคาแพงกว่าร้านภายนอกหลายปี โดยกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่บางคนมีเอี่ยวเรื่องนี้ด้วย ดังนั้น “ผู้ว่าฯ จ.ตาก” ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วว่าเป็นไปตามข้ออ้างจริงหรือไม่ เพื่อให้ความจริงกระจ่างทุกกรณี เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
...
ประเด็นสำคัญนี้...คงต้องติดตามดูบทสรุปกันต่อไป
ประเด็นต่อมา “ผู้ลี้ภัยอยู่มาเกือบ 40 ปี” มีการพัฒนาพื้นที่ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน “ผู้ลี้ภัยมีแค่เสื่อผืนหมอนใบ” อาศัยกันเป็นบ้านกระท่อมมุงใบตองแห้ง จนวันนี้มีไฟฟ้าข้าวของเครื่องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกครบครันพากันอยู่แบบสบายแล้วสร้างครอบครัวจาก “กลุ่มผู้หนีภัยด้วยกัน” ตั้งถิ่นฐานในศูนย์ฯถาวร
ตัวเลขขึ้นทะเบียนราว 4 หมื่นคน ไม่รวมประชากรแฝงอีก ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการหมู่บ้านคอยประสานฝ่ายปกครองไทยแบ่งเป็น 3 หมู่บ้าน คือ โซนชาวกะเหรี่ยง โซนชาวมุสลิม โซนชาติพันธุ์อื่น
ด้วยเหตุอาศัยกันมานานนำมาสู่ “ผู้มีอิทธิพล” สามารถปลุกระดมมวลชนได้เสมอ ทั้งยัง “เริ่มมีอำนาจต่อรองกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยมากขึ้น” ในบางครั้งแทบไม่อาจควบคุมได้ เชื่อได้ว่า...เหตุจะเกิดขึ้นซ้ำอีก
ฉะนั้น อนาคตเรื่อง “การก่อจลาจลในค่ายผู้ลี้ภัย” ฝ่ายความมั่นคง ควรมีแผนล่วงหน้าไว้เตรียมรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้า เผชิญเหตุไม่คาดฝัน...ส่วนกรณีเหตุในศูนย์แม่หละ “คงรอผลคณะกรรมการตรวจสอบ” ถ้ามีมูลตาม “ผู้ลี้ภัย”...กล่าวอ้างก็ต้องลงโทษเด็ดขาดเช่นกัน.