หลังจากประสบผลสำเร็จ นำร่องดำเนินโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเขตภาคเหนือในช่วงที่ผ่านมา...ส่งผลราคายางก้อนถ้วยมีเสถียรภาพมากขึ้น
ทำให้ราคายางเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจาก กก.ละ 26.56 บาท เป็น 29.72 บาท เพิ่มขึ้น กก.ละ 3.16 บาท
นอกจากนี้ ยังทำให้เกษตรกรหันมาผลิตยางก้อนถ้วยแห้ง แทนยางก้อนถ้วยเปียก สามารถลดมลภาวะ ลดอุบัติเหตุที่ทำให้ถนนลื่นจากการขนยางก้อนถ้วยเปียก ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของชาวสวนยาง
ล่าสุด นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เผยถึงมาตรการในระยะที่ 2 ที่คณะกรรมการ กยท.เห็นชอบให้ดำเนินโครงการสานต่อจากระยะแรก...จะขยายผลดำเนินการทั่วประเทศ และไม่จำกัดเฉพาะยางก้อนถ้วยเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงน้ำยางสด ยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันด้วย โดยตั้งเป้าดำเนินโครงการไว้ประมาณ 20,300 ตัน
โดยสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับสินเชื่อวงเงิน 80% ของมูลค่ายาง และได้รับค่าบริหารโครงการอีก กก.ละ 0.50 บาท
ส่วนการกำหนดราคากลางสำหรับประเมินสินเชื่อ จะใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 15 วัน ของราคากลางเปิดตลาดของยางชนิดนั้นๆ
ทั้งนี้ มีเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับยางที่เข้าร่วมโครงการ ต้องขายผ่านตลาดกลางยางพารา หรือตลาดเครือข่ายตลาดกลางยางพาราจังหวัดของ กยท.เท่านั้น เมื่อขายยางแล้ว กยท.จะหักเงินสินเชื่อกลับเข้าโครงการ และจ่ายเงินส่วนต่างให้แก่สถาบันเกษตรกร โดยมีระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย.นี้
และต้องส่งใช้เงินคืนในวงเงินที่ได้รับอนุมัติเต็มจำนวน ปลอดดอกเบี้ยใน 3 เดือนแรก แต่เมื่อสิ้นสุดโครงการยังขายยางไม่ได้ จะมีคิดดอกเบี้ยตามระเบียบสูงสุดไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ของมูลค่ายางที่ขอสินเชื่อ
โดยมีมาตรฐานคุณภาพยางดังนี้...ยางก้อนถ้วยต้องมีค่า DRC 75% สามารถเก็บได้ไม่น้อยกว่า 1 เดือน โดยไม่เสียคุณภาพ ส่วนน้ำยางสดค่า DRC 100% และต้องเก็บได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน โดยไม่เสียคุณภาพในแท็งก์ที่ได้มาตรฐานที่ กยท.กำหนด ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน ต้องเต็มได้ไม่น้อยกว่า 1 เดือนโดยไม่เสียคุณภาพ.
...
สะ-เล-เต