ผอ.โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง ที่อยู่ใกล้การสู้รบของกะเหรี่ยงเคเอ็นยูกับทหารเมียนมา เตรียมสร้าง “Baby Bunker” หลุมหลบภัยเป็นกำบังป้องกันนักเรียนจากสะเก็ดระเบิด ขณะที่ยามสงบใช้เป็นเครื่องเล่นได้

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.64 นายสายัญ โพธิ์สุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง เปิดเผยว่า ในระยะนี้แม้ว่าสถานการณ์การสู้รบตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.64 เวลา 17.00 น. เป็นต้นมา ไม่มีการสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยง KNU ด้านตรงข้าม บ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และยังคงไม่มีการปฏิบัติการทางอากาศในฝั่งประเทศเมียนมา แต่เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ และความปลอดภัยในสถานศึกษาที่จะเปิดทำการเรียนการสอนในวันที่ 14 มิถุนายนที่จะถึงนี้

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง กล่าวต่อว่า เนื่องจากโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่งมีพื้นที่อยู่ใกล้การสู้รบในฝั่งเมียนมา จึงได้มีแนวคิดสร้าง เบบี้ บังเกอร์ (Baby Bunker) สำหรับใช้เป็นที่กำบังให้เด็กๆ นักเรียนจากสะเก็ดระเบิดที่อาจเป็นอีกหนึ่งผลกระทบจากสงครามในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะสร้างเป็นกำแพงโอบล้อม มีความหนาของกำแพง 0.25 ม. สูง 1.50 ม. พื้นที่ทั้งหมดรวม 24 ตร.ม. ความกว้าง 3 ม. ความยาว 8 ม. สามารถรองรับได้ถึง 100 คน แต่ในระยะแรกจะเน้นใช้งานเฉพาะเด็กอนุบาล ประมาณ 30 คน เด็กๆ สามารถเข้ามาหลบอยู่หลังกำแพงเพื่อความปลอดภัย และจะมีตาข่ายเชือกถัก คลุมเป็นใยแมงมุม เพื่อป้องกันเศษวัสดุที่อาจหล่นลงมาตรงที่เด็กๆ อาศัยอยู่ ซึ่งสามารถใช้หลบกำบังชั่วคราวได้ ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปในพื้นที่ปลอดภัยต่อไป

...

นายสายัญ ผอ.โรงเรียน กล่าวอีกว่า สำหรับเบบี้ บังเกอร์ หรือหลุมหลบภัยของเด็กๆ นักเรียน จะปูพื้นด้วยทราย และใช้ตาข่ายเชื่อมโยงเข้ากับสะพาน บ้านต้นไม้ และบันไดป่ายปีน ออกไปยังเนื้อที่ต่างๆ และนอกจากนี้บริเวณที่เป็นกำแพงกันภัย ยังเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ระบายสีและแต่งแต้มรูปทรงวาดภาพต่างๆ ตามที่เด็กๆ ชอบใจได้ เพื่อทำให้ลดความตึงเครียด เกิดความผ่อนคลายในชีวิตห้วงวิตกกังวลสถานการณ์การสู้รบของทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยูกับทหารเมียนมาได้ ทั้งนี้ การจัดทำเน้นใช้วัสดุที่มีในพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือระหว่างครูและผู้ปกครองของเด็กนักเรียน

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง กล่าวด้วยว่า ตัวบังเกอร์นี้ในยามปกติอาจเป็นเครื่องสนาม เด็กนักเรียนสามารถเล่นป่ายปีน วิ่ง กระโดด แต่ในยามสงครามสามารถปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ ได้อีกด้วย ตามคอนเซปต์ “ยามระเบิดเราหลบ ยามสงบเราเล่น”.