ต้องยอมรับหลักการตลาดนำการผลิต แม้จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องในระบบการทำเกษตรเพื่อค้าขาย ไม่ใช่หวังกินกันแค่ในครัวเรือน

แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากที่เกษตรกรทั่วไปจะทำได้ เพราะเคยชินอยู่กับระบบเก่า ถนัดทำอะไรก็ผลิตอยู่อย่างนั้นโดยไม่ดูตลาดก่อน

วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนห้วยทราย บ.สันข้าวแคบกลาง ต.ห้วยทราย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ภายใต้การนำของ น.ส.นพวรรณ ทิพย์วงค์ วัย 54 ปี น่าจะเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรกลุ่มอื่นได้เรียนรู้

“เดิมชีวิตไม่ได้มุ่งเข็มที่จะมาเป็นเกษตรกรแต่อย่างไร ความรู้มีแค่ชั้นประถม เลยเป็นได้แค่สาวโรงงานเย็บผ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ทำมาได้ 20 ปี รู้สึกเบื่อชีวิตในเมืองหลวง ประกอบกับแม่อายุมากแล้ว เลยตัดสินใจกลับบ้าน เริ่มแรกทำเกษตรแบบพ่อแม่เคยทำมา ทำเกษตรไม่ใช้สารเคมี เพราะได้ไปอบรมกับสถาบันเกษตรกรรมยั่งยืน แม่แบ่งที่ดินให้ทำกิน 3 งาน ปลูกทุกอย่าง ทำนา เกษตรแบบผสมผสาน แต่ที่ดินมีน้อย ผลผลิตได้ไม่มากพอที่
จะป้อนความต้องการของตลาด เลยไปเช่าที่ดิน 4 ไร่ ทำสวนผสมผสานแบบเดิม ได้ผลผลิตเอาไปขายในตลาดสีเขียว กาดขั่วเกษตรอินทรีย์ แม่เหียะ ทำได้อยู่ 4-5 ปี ไม้ผลที่ปลูกไว้กำลังจะให้ผลผลิต เจ้าของที่ดินเอาพื้นที่คืนไปขายทำหมู่บ้านจัดสรร

...

ตอนนั้นรู้สึกเคว้งไปหมด ไม่รู้จะทำอะไรกิน แต่ยังโชคดีที่ยังมีข้าวเปลือกเหนียวดำ ข้าวหอมแดง ที่ปลูกไว้พอให้เอามาสีขายได้ ปรากฏว่าผู้บริโภคชอบขายได้ กก.ละ 70 บาท เพราะเป็นของหายากไม่ค่อยมีใครปลูกกัน ปีถัดมาเลยมีคนมาขอซื้อเมล็ดพันธุ์ไปปลูกบ้าง แต่เขาก็เอามาขายแข่งกับเรา เขาขายได้ถูกกว่า เพราะค่าแรงบ้านเขาต่ำแค่วันละ 200 บาท ส่วนที่บ้านเราค่าแรงวันละ 300 บาท เลยต้องมาคิดหาวิธีจะทำยังไงถึงจะขายแข่งสู้ราคากับเขาได้ จะเอาผลผลิตที่เรามีมาแปรรูปได้อย่างไร”

นพวรรณ เล่าถึงที่มาของการนำข้าวมาแปรรูปเป็นแป้ง...เพราะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของชีวิต มีแม่ค้าทำขนมไทยอยากจะได้แป้งข้าวอินทรีย์ไปทำขนม เพราะลูกค้าต้องการบริโภคขนมทำจากแป้งอินทรีย์ไร้สารเคมีตามกระแสที่กำลังมาแรง แต่ตามท้องตลาดทั่วไปไม่มีขาย

จากจุดนี้เองทำให้ได้ ความคิดที่จะนำข้าวมาทำเป็นแป้ง เพราะที่บ้านพอจะมีอุปกรณ์ให้ทดลองทำแป้งข้าวได้ เนื่องจากแม่เคยเป็นหมอยาแผนโบราณมาก่อน มีเครื่องบดสมุนไพรให้เป็นผง เลยทดลองเอาข้าวมาบดเป็นแป้ง...แต่กว่าจะลงตัวได้ใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นานหลายปี โดยเฉพาะการหาวิธีที่ทำให้แป้งอยู่ได้นานหลายเดือน เพื่อที่จะได้ขยายตลาดไปได้ไกล...ไม่ใช่เก็บได้แค่เดือนเดียว ขายได้เฉพาะในเชียงใหม่

จนในที่สุดได้ความรู้จาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ถึงทางเลือกในการถนอมแป้งข้าวให้อยู่ได้ยาวนานได้ถึง 6 เดือน มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี...แต่ นพวรรณ เลือกวิธีบรรจุในถุงสุญญากาศ ด้วยใช้ต้นทุนต่ำ สามารถนำไปปรับใช้กับสินค้าเกษตรได้หลายชนิด เพราะสมาชิกของกลุ่ม และเกษตรกรในเครือข่าย สามารถผลิตวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ได้หลายชนิด

เลยทำให้วันนี้วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนห้วยทรายมีผลิตภัณฑ์แป้งอินทรีย์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ แป้งข้าวเหนียวดำ หอมมะลิ มะลิแดง หอมนิล ไรซ์เบอร์รี ข้าวสาลี กล้วย มันม่วง ผักเคล (คะน้าใบหยิก) ล่าสุด แป้งจิ้งโกร่ง ที่กำลังขายดีผลิตได้ไม่ทันความต้องการ เลยขายให้กันได้เฉพาะในชุมชนเท่านั้น

และในอนาคตเตรียมที่จะทำแป้งมันฝรั่ง...แต่ยังติดปัญหา ยังหาแหล่งปลูกมันฝรั่งอินทรีย์ไม่ได้

เรียกว่ามีเสียงเรียกร้องจากตลาดนำทางมาแบบไหน ที่นี่พร้อมจะผลิตทุกอย่าง ในแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามศักยภาพของตัวเอง ไม่ได้โลภหวังรวยบูมแบบรวดเร็ว...สนใจสินค้าผลิตภัณฑ์แป้งอินทรีย์ของวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนห้วยทราย สอบถามไปได้ที่ 09-8553-2964.

...

ชาติชาย ศิริพัฒน์