กำแพงเพชร ร่วมกับ วว.ทำวิจัย ประสบความสำเร็จในวิธีการปลูกกล้วยไข่ โดยจำกัดความสูงของต้น เพื่อให้สามารถทนต่อลมพายุ ลดความเสียหายจากการหักโค่น เร่งเผยแพร่ความรู้ขยายสู่เกษตรกร 

ที่แปลงสาธิตและทดลองกล้วยไข่ ตำบลสระแก้ว อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พร้อมด้วย นายสำราญ รอดเพชร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการ อว., นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, นายกุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส (วว.) ร่วมเปิดกิจกรรม “กล้วยเตี้ยสู้วาตภัย” โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตและมูลค่าของผลผลิตกล้วยไข่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและรายได้ของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตกล้วยไข่จังหวัดกำแพงเพชร โดยมี นายเชาวลิตร แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร, นายประสิทธิ์ อินทโชติ นายอำเภอเมืองกำแพงเพชร, นายสุวรรณ ศุภกิจเจริญ นายก อบต.สระแก้ว, คณะแม่บ้านมหาดไทย, สนง.สภาเกษตรกร, สนง.เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่แปลงใหญ่ จังหวัดกำแพงเพชร ร่วมต้อนรับ

ด้าน รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตและมูลค่าของผลผลิตกล้วยไข่ ส่งเสริมเศรษฐกิจและรายได้ของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตกล้วยไข่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาการหักโค่นจากวาตภัยแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อให้เกษตรกรก้าวไปสู่มาตรฐานด้วยงานวิจัยได้มากขึ้นด้วย

...

ด้านนายเชาวลิตร แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า กล้วยไข่กำแพง เป็นผลไม้ประจำถิ่นที่ผูกพันกับขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่น เทศกาลสารทไทย กล้วยไข่เมืองกำแพง” แต่ปัจจุบันพื้นที่การปลูกกล้วยไข่ลดลงเป็นอย่างมาก อดีตเคยมีพื้นที่ปลูกกว่า 4,000 ไร่ ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 1,000 ไร่เศษเท่านั้น เนื่องจากปัญหาลมพายุ ทำให้ต้นกล้วยไข่เกิดการโค่นล้มขณะที่ใกล้ได้รับผลผลิต ทำให้ชาวสวนเกิดความเสียหาย บางรายเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น จังหวัดกำแพงเพชรจึงได้ส่งเสริมและเพิ่มพื้นที่การปลูกกล้วยไข่

ผู้ว่าฯกำแพงเพชร กล่าวต่อว่า ถือเป็นความโชคดีของชาวกำแพงเพชรที่ขณะนี้ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ ได้คิดค้นวิจัยการปลูกกล้วยไข่ต้นเตี้ย เพื่อสู้วาตภัย เพื่อแก้ปัญหาการหักโค่นจากลมพายุได้แล้ว โดยใช้สารที่เรียกว่า แพคโคลบิวทราโซน ที่มีอยู่ในต้นไม้ตามธรรมชาติอยู่แล้วไม่เป็นอันตราย ไปยับยั้งการเติบโตไม่ให้สูง แต่ยังคงมีความสมบูรณ์ได้ทั้งลำต้นและผลกล้วย และที่สำคัญยังคงรักษาคุณลักษณะของกล้วยไข่เมืองกำแพงไว้ได้เหมือนเดิม

นายเชาวลิตร กล่าวอีกว่า จากความสำเร็จนี้ทางจังหวัดและส่วนที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการเผยแพร่ความรู้วิธีการให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรกล้วยไข่แปลงใหญ่ ได้นำไปใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพื่มพื้นที่เพาะปลูกให้มากขึ้น โดยในอนาคตจังหวัดกำแพงเพชรมีเป้าหมายที่จะเพิ่มผลผลิตให้ได้ปีละ 1 หมื่นตัน หรือคิดเป็นเงินกว่า 200 ล้านบาท ที่จะเป็นเม็ดเงินนำรายได้จากผลผลิตของกล้วยไข่จีไอ เข้าสู่จังหวัดกำแพงเพชรต่อไป รวมถึงจังหวัดกำแพงเพชรจะมีการส่งเสริมให้ปลูกกล้วยไข่ในโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การผลิตกล้วยไข่ และยังปลูกฝังให้เกิดความรักและหวงแหนในพืชซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชรอีกด้วย.