ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯ เตรียมยกระดับมาตรฐานงานเซรามิกและหัตถกรรมใยกัญชง หวังดันสู่ตลาดแพลตฟอร์มดิจิทัล สร้างคุณค่างานศิลปาชีพและหัตถกรรมไทยไปยังคนรุ่นใหม่
เมื่อวันที่ 23 ก.ย.63 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯ หรือ SACICT ลงพื้นที่ตามโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อบ้านทุ่งจี้ จ.ลำปาง และการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมจากใยกัญชง จ.เชียงใหม่ ชูคุณค่างานศิลปาชีพและหัตถกรรมไทย ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีดีไซน์และการใช้งานที่โดนใจคนรุ่นใหม่ รวมทั้งขยายสู่การใช้งานในรูปแบบหัตถ-อุตสาหกรรมได้ในอนาคต พร้อมเตรียม ดันสู่การตลาดออนไลน์และการสื่อสารสร้างความนิยมผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ
นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า SACICT เป็นหน่วยงานของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของรมว.พาณิชย์ มีหน้าที่หลักในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่างๆ โดยการสะท้อน "คุณค่าความเป็นไทย" ผ่านงานศิลปาชีพและงานหัตถกรรมไทย SACICT ลงพื้นที่เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมงานศิลปาชีพ ตามโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อ (บ้านทุ่งจี้) อ.เมืองปาน จ.ลำปาง เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่าของการสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปาชีพให้เป็นที่รู้จักและเกิดการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น
...
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผาภายในโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อบ้านทุ่งจี้ เมื่อปี 2540 เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่และห่างไกลจากยาเสพติด และส่งเสริมอาชีพด้านศิลปาชีพให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบันภายใต้การขับเคลื่อนของโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อบ้านทุ่งจี้ มีงานด้านศิลปาชีพ ทั้งงานเครื่องปั้นดินเผา ผ้าปัก ผ้าทอ และแกะสลักไม้ ภายในโครงการฯ ยังถือเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการทำเซรามิก ตั้งแต่การขึ้นต้นแบบ การทำแบบพิมพ์ การเขียนลาย การขึ้นรูปทั้งแป้นหมุน การหล่อแบบ การปั้นอิสระ การเคลือบสี เป็นต้น ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา SACICT ได้มีส่วนเข้ามาสนับสนุนในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบ และบรรจุภัณฑ์
แต่ทั้งนี้สภาพตลาดของงานหัตถกรรมทั่วโลกปัจจุบันได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก SACICT จึงมีแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิก ทั้งในด้านนวัตกรรมผสมผสานการออกแบบ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิต ลดความสูญเสียในขั้นตอนการผลิต และนำสิ่งของเหลือทิ้งมาประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัว โดยคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์เซรามิกสมัยใหม่มีการออกแบบที่ทันสมัย ทนทานขึ้น และรองรับใช้งานที่ง่ายและหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้แค่เรื่องความสวยงาม แต่จะยกระดับการใช้ชีวิตของผู้ใช้มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ มีแนวคิดจะพัฒนาในเชิงหัตถอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญา สุนทรียภาพทางศิลปหัตถกรรม ผนวกกับความคิดริเริ่มและทักษะทางการออกแบบกับกระบวนการเชิงอุตสาหกรรม โดยมีฐานจากองค์ความรู้และทักษะที่หลากหลายซึ่งบูรณาการเข้าด้วยกัน ซึ่งจะสามารถขยายตลาดของเซรามิกเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน ไปสู่เซรามิกด้านอื่นๆ ในอนาคต
นอกจากนี้ SACICT ได้เยี่ยมชมชุมชนหัตถกรรมบ้านห้วยทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งชาวบ้านในชุมชนรวมกว่า 100 คน ภายใต้การนำของครูนวลศรี พร้อมใจ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 ของ SACICTสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมจากเส้นใยกัญชง ซึ่งมีจุดเด่นที่กระบวนการผลิตล้วนมาจากธรรมชาติ ทั้งเส้นใยและการย้อมสี ผลิตภัณฑ์จึงมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เป็นการสืบสานคุณค่างานศิลปาชีพ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือ ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า "กัญชง" คือพืชพื้นบ้านที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมชาวเขาภาคเหนือ โดยเฉพาะชาวเขาเผ่าม้ง (Hmong) รู้จักปลูกกัญชงและสั่งสมภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากกัญชงมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้มีการศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาได้ปลูกกัญชง เพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้จากงานหัตถกรรม
...
ปัจจุบัน "กัญชง" เป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อยอดทางธุรกิจได้มากมาย และกําลังเป็นสินค้าที่นิยมของผู้บริโภคกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและคนรุ่นใหม่ เพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน และสามารถแปรรูปนำไปทำผลิตภัณฑ์ได้มากมาย เส้นใยกัญชงของไทย จัดว่าเป็นวัสดุชั้นดี ระดับพรีเมียม ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี มีความเหนียวนุ่ม มีความทนทานสูงกว่าผ้าฝ้าย ให้ความอบอุ่นกว่าลินิน ดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนลอน ป้องกันรังสียูวีได้ดี เนื้อผ้ายังมีเนื้อสัมผัสที่มีเสน่ห์ สวยงามแปลกตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงโดนใจคนรุ่นใหม่เป็นพิเศษ
"SACICT เตรียมยกระดับมาตรฐาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในงานเซรามิกและหัตถกรรมใยกัญชง ให้มีรูปแบบที่ตรงกับความต้องการของตลาด และเตรียมผลักดันเข้าสู่การซื้อ-ขายในตลาดออนไลน์ อีกทั้งยังมีแนวทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อสามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้บริโภคในปัจจุบันได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อันจะช่วยสร้างความภาคภูมิใจและกระแสความนิยมใช้งานศิลปาชีพและหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน" นายพรพลกล่าว.