กรมส่งเสริมสหกรณ์ หนุนชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ รวบรวมผลผลิตทางการเกษตรออกขายตลาดโมเดิร์นเทรด หลังกระแสผู้บริโภคตอบรับล้นหลาม ส่งผลปริมาณธุรกิจพุ่ง 157 ล้านบาท เกษตรกรยิ้มออกรายได้เพิ่ม

เมื่อวันที่ 30 ก.ค.63 นางสาวภัทราวดี ดวงติ๊บ ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด เปิดเผยว่า เดิมทางชุมนุมฯ มีรายได้จากการทำธุรกิจให้เช่าพื้นที่และเช่าห้องเย็น แต่ได้รับโอกาสจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่เข้ามาสนับสนุนให้ทำธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรประมาณ 1 ปีเศษ โดยเริ่มต้นจากการหาตลาดในกลุ่มของห้างโมเดิร์นเทรด และหาแหล่งผลิตผักและผลไม้ที่มีคุณภาพมาป้อนตลาด ซึ่งโชคดีที่ได้มาเจอกับสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงปางอุ๋ง จำกัด อ.แม่แจ่ม ที่ผู้นำมีความเข้มแข็งและสนใจที่จะทำเกษตรประณีต จึงได้พูดคุยและจับมือทำธุรกิจร่วมกัน จากการที่ได้ร่วมงานกันมาเพียง 1ปีเศษ พบว่าสินค้าของสหกรณ์แห่งนี้ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคด้วยดี ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีเปิดรับผลผลิตจากทางกลุ่มไม่จำกัด แต่ขอให้อยู่ในเงื่อนไขคือสินค้าดี มีคุณภาพ

...

"ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อผัก ผลไม้ 14 ตันต่อวัน ทางชุมนุมฯได้แจ้งออเดอร์ไปยังสหกรณ์ผู้ผลิต เพื่อวางแผนการผลิตผักผลไม้ให้สอดคล้องกับที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งการสั่งซื้อโตแบบก้าวกระโดดมาก เพราะลูกค้าถามหาสินค้าเรามากขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่แผนสั่งซื้อ 3-4 ตู้ต่อเดือน หลังทำงานร่วมกัน 6 เดือน สั่งซื้อเพิ่มเป็น 5 ตู้และอีกไม่กี่เดือนก็สั่งเพิ่มเป็น 7 ตู้ต่อเดือน ทั้งที่เดิมทางสหกรณ์เองคาดว่ายอดสั่งซื้อน่าจะอยู่แค่ 3-4 ตู้ในช่วงปีแรก ปัจจุบันธุรกิจรวบรวมผักของสหกรณ์มีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งตั้งแต่ มิ.ย. 62 - มิ.ย. 63 มีมูลค่ารวมประมาณ 157 ล้านบาท จากเดิมที่มีรายได้จากค่าเช่าห้องเย็นปีละไม่กี่สิบล้านบาทเท่านั้น"น.ส.ภัทราวดีกล่าว

ด้าน นายนิกร แซ่เห่อ ประธานสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงปางอุ๋ง จำกัด อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สหกรณ์มีสมาชิก 250 คน พื้นที่ทำเกษตร400 ไร่ ซึ่งได้รวบกลุ่มสมาชิกเข้าร่วมโครงการปลูกผักคุณภาพเพื่อส่งผลผลิตให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ 40 และมีการวางแผนการตลาดทั้งปีกับทางชุมนุมฯซึ่งเป็นคู่ค้ากัน จากนั้นจะนำไปวางแผนผลิตกับสมาชิกเพื่อบริหารผลผลิตไม่ให้มากเกินความต้องการ เช่น กะหล่ำปลี เดือนละ 1 แสนกิโลกรัม หรือปีละ 100 ตัน และยังมีผลผลิตอื่น ๆ เช่น ผักกาดขาวปลี อโวคโด มะเขือเทศราชินี เป็นต้น ซึ่งสมาชิกจะต้องมีการผลิตตามมาตรฐานการผลิตที่ดีหรือGAPเป็นอย่างน้อย อีกทั้งปัจจุบันเกษตรกรหันมาลดการใช้สารเคมีทำให้สมาชิกในพื้นที่สุขภาพดีขึ้นและต้นทุนการผลิตต่อไร่ลดลง

"สหกรณ์เริ่มปลูกผักคุณภาพมาประมาณ 2 ปี และเพิ่งเข้ามาร่วมงานกับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัดได้ประมาณ 2 ปี ราคาที่ตกลงซื้อขายกันจะสูงกว่าราคาตลาด ที่ผ่านมาได้รับงบอุดหนุนสร้างอาคารอเนกประสงค์ 1 หลัง เพื่อทำโรงตกแต่ง บรรจุพืชผักจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายและลดการสูญเสียผลผลิตได้มาก สหกรณ์จึงสามารถรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกได้ราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งสำหรับผมเองก็ได้ร่วมโครงการปลูกผักคุณภาพส่งให้ทางชุมนุมฯเช่นกันทำให้รายได้ของครอบครัวเพิ่มขึ้น จากที่เคยทำได้ปีละ 5 แสนบาท เป็น 1.1 ล้านบาทต่อปี และมีสมาชิกบางคนที่ปลูกองุ่นหรือผลไม้เมืองหนาวที่มีราคาสูง ก็สามารถสร้างรายได้นับสิบล้านบาทต่อปี เพราะมีตลาดรองรับที่ชัดเจนและทุกคนช่วยกันทำผลผลิตคุณภาพ"นายนิกรกล่าว.