(ภาพ) ภาพมุมสูง ดอยม่อนแจ่ม พื้นที่ ต.โป่งแยง และ ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่มีถึง 116 แห่ง พบถูกบุกรุกแผ้วถางตัดไม้ทำลายป่าเป็นวงกว้างเพื่อก่อสร้างอาคารและทำไร่ กลายเป็นภูเขาหัวโล้น.
ปัญหาชาวเขาบุกรุกทำลายป่าเพื่อเปิดที่ทำกินใหม่ ปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ–ปุย เขตพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 แหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ยังเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข
จนต้องตั้ง “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย” ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2517 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของเกษตรกร เน้นแนะนำพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ ทดแทนการปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย ยกระดับความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น
โดยศูนย์ฯดังกล่าวตั้งอยู่ที่ ต.แม่แรม และ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ มีประชากร 3 หมู่บ้าน กับ 3 หย่อม บ้านหนองหอยเก่า บ้านหนองหอยใหม่ บ้านแม่ขิ-ปางไฮ บ้านห้วยหวาย จำนวนกว่า 3,000 คน 500 ครัวเรือน
...
ผลการพัฒนาของ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย” ที่ดำเนินการแนะนำการประกอบอาชีพทางการเกษตร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ของชาวเขา ทั้งด้านสังคม การศึกษา สาธารณสุข
รวมทั้งความเข้มแข็งของชุมชน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และพัฒนาประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ จนเป็นที่ยอมรับ ของผู้คนทั่วไปทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
สำหรับ ยอดดอยม่อนแจ่ม บริเวณบนสันเขาหมู่บ้านม้งหนองหอย มีอากาศเย็นสบายตลอดปี แถมมีหมอกยามเช้า มองเห็นวิวทิวทัศน์โดยรอบ มองเห็นทิวเขาสลับกันไปไกลสุดลูกหูลูกตา ดูสวยงามตามธรรมชาติที่สร้างสรรค์โลกให้น่าอยู่น่าอาศัยยิ่งนัก
ส่วนอีกฝั่งจะเป็นไร่ปลูกพืชต่างๆของโครงการหลวง บนยอดม่อนแจ่ม มีพื้นที่ไม่มากนัก สามารถเดินชมพื้นที่จนทั่วได้อย่างสบาย นับเป็นแหล่งชมวิวที่งดงามทางธรรมชาติอีกแห่งของ จ.เชียงใหม่ ที่เรียกนักท่องเที่ยวขึ้นไปชมความงดงามจำนวนมากในแต่ละวัน
กระทั่งมีนักฉกฉวยโอกาสอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย เข้าไปปรับปรุงบริเวณดอยม่อนแจ่มให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ มีการพัฒนาขยายพื้นที่ชมวิว และจัดที่พักจากไม่กี่แห่ง
...
จนขยายพื้นที่บุกรุกพื้นที่ออกไปอย่างรวดเร็ว มีชื่อเรียกเป็นม่อนต่างๆ ตามแต่จะตั้ง สร้างความเสียหายยับ ส่งผลทำให้ดอยม่อนแจ่มวันนี้ ดูสวยแต่รูป แต่จูบไม่หอม เป็นการพัฒนาหรือทำลายกันแน่...
จากข้อมูลของที่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้าสำรวจพื้นที่ พบมีผู้ประกอบการ รีสอร์ตทั้งหมด 116 แห่ง ชาวบ้านนำพื้นที่เกษตรมาสร้างบ้านพักรีสอร์ต 216 ราย ที่คิดเป็นพื้นที่ 363 ไร่ มีบ้านพัก 454 หลัง ลานกางเต็นท์ถาวร 104 แห่ง ลานกางเต็นท์ชั่วคราว 75 แห่ง ร้าน กาแฟ 57 แห่ง และแยกเป็นจุดชมวิว สกายวอร์ก รวมไปถึงโรงรถ และโรงเก็บของอีก 198 แห่ง
...
ภายหลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมป่าไม้ และ ภาครัฐ เข้าดูแล ควบคุมไม่ให้ดอยม่อนแจ่มถูกบุกรุกย่ำยีไปสู่ความเลอะเทอะทางกายภาพมากไปกว่านี้ ด้วยการเข้าไปตัดไฟ และเสาสื่อสารสัญญาณโทรศัพท์ที่มีการ ตั้งเสาสัญญาณในพื้นที่ป่าโดยไม่มีการขออนุญาต มีการแจ้งความดำเนินคดีกับ ผู้กระทำผิด 27 ราย
ทำให้ชาวบ้านผู้ประกอบการไม่พอใจ รวมตัวกันกว่า 400 คน นำโดย นายสุรินทร์ นทีไพรวัลย์ ผู้ใหญ่บ้านหนองหอยเก่า ชุมนุมที่ อบต.โป่งแยง เรียกร้องขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า...
...
“วิถีชีวิตต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะหากยังใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ในการทำไร่ทำสวนก็ไม่ก่อเกิดประโยชน์ รายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง แต่เมื่อ นำพื้นที่มาทำธุรกิจท่องเที่ยวเติบโต สร้างรายได้ อย่างงาม ขณะนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ถูกเจ้าหน้าที่ตัดสัญญาณโทรศัพท์ และกำลังเตรียมตัดไฟ ส่งผลกระทบทำให้บ้านพักและรีสอร์ตต้องปิดตัวไปโดยปริยาย ชาวบ้านไม่ได้ทำผิดวัตถุประสงค์ของโครงการหลวงที่ให้อาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่”
นายวีระพันธ์ ดีอ่อน ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวภายหลังเดินทางไปพบกับผู้ชุมนุมว่า ข้อเรียกร้องของชาวบ้าน 7 ข้อ สรุปแล้วต้องการให้ ภาครัฐเห็นอกเห็นใจพี่น้องชาวม่อนแจ่มที่ดำรงชีวิตในที่แห่งนี้มานาน
ส่วนการแก้ไขปัญหาทาง นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ มีความห่วงใย กำชับอย่างเข้มงวดว่า นอกจากบังคับใช้กฎหมายแล้ว ให้ดูแลชาวบ้านด้วย
ด้าน นายกมล นวลใย ผอ.สำนักทรัพยากร ป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) กล่าวว่า หน่วยงานรัฐจะแก้ไข ปัญหาให้กับชาวบ้าน แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบของกฎหมาย สถานภาพในอดีตพื้นที่นี้ได้รับการ ผ่อนผันตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 แต่ปัจจุบัน กำลังจะปรับให้ถูกต้องและดึงเข้าโครงการ คทช.
“การดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นการพิสูจน์สิทธิ และให้ชาวบ้านทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ให้มีนอมินี และให้มีการใช้พื้นที่ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการหลวง...
รวมทั้งฟื้นฟูป่าที่ถูกบุกรุกให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง เพราะพื้นที่ ดังกล่าวถือเป็นป่าต้นน้ำชั้น 1 จึงต้องควบคุมการใช้ประโยชน์อย่าง เคร่งครัดไม่ให้ส่งผลกระทบเกิดขึ้น” นายกมล กล่าวย้ำ
ที่สำคัญการจัดระเบียบดอยม่อนแจ่มจะต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าจะเกิดความถูกต้องชอบธรรมเกิดขึ้นบนที่ดอยสูงแห่งนี้
เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกและทำลายขยายพื้นที่อีก.
ชัยพินธ์ ขัติยะ รายงาน