กางแผนแก้ปัญหาความยากจน ในจังหวัดที่ยากจนสุดของไทย ของพ่อเมืองแม่ฮ่องสอนคนใหม่ สู่ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ที่มีดัชนีความสุขมากที่สุดในไทย ไร้ความวุ่นวาย อยู่กันแบบสโลว์ไลฟ์ สงบสันติ

จากข้อมูลเมื่อปี 2561 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าปัจจุบันจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดของประเทศไทย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 39.21 โดย แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดชายแดนที่อยู่ห่างไกล ทุกอำเภอมีอาณาเขตติดกับรัฐฉานประเทศเมียนมา มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 275,884 คน เป็นลำดับที่ 73 ของประเทศไทย โดยความหนาแน่นของประชากร/พื้นที่ อยู่ที่ 22 คน/ตารางกิโลเมตร นับว่าน้อยที่สุดในประเทศ ประชากรอาศัยอยู่รวมกันหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ กระจัดกระจายอยู่ตามสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาสูงชัน สลับซับซ้อน และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตป่าสงวนและอุทยาน

โดยพื้นที่ของจังหวัดมีการประกาศเป็นพื้นที่เขตป่าถึงร้อยละ 86 และมีหมู่บ้านอยู่ในเขตป่าถึง 377 หมู่บ้านจากทั้งหมด 415 หมู่บ้าน โดยมีพื้นที่ที่ราษฎรครอบครองถูกต้องตามกฎหมายเพียงประมาณร้อยละ 5 ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด ทำให้มีข้อจำกัดด้านที่ดินทำกินของประชาชน เนื่องจากไม่มีไร่นา สวน เป็นของตนเอง กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ต้องอาศัยหาของป่าเพื่อประทังชีวิต ทำให้คนในครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 23,000 บาทต่อปี อยู่เป็นจำนวนมาก

ขณะที่การเดินทางก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงเป็นอุปสรรคด้านการขนส่งและการเข้าถึงบริการของรัฐ เช่น ถนน ระบบประปา และการให้บริการด้านสาธารณสุข ทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างล่าช้า จังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงเป็นจังหวัดที่ติดอันดับยากจนที่สุดของประเทศ

...

จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องขึ้นเครื่องบินซี-130 มาลงพื้นที่ เพื่อพบประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อติดตามการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0 ในการแก้ไขปัญหาความยากจน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 พร้อมทั้งได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการในพื้นที่

ทั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิบุคคลหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า "ปัญหายากจนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะเห็นว่าเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน มีความยากในการดำเนินการ เนื่องจากครัวเรือนแต่ละครัวเรือนจะมีเงื่อนไข หรือสาเหตุของปัญหาหลายประการ และจะไม่สามารถแก้ไขด้วยนโยบาย หรือกิจกรรมด้านในด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการแก้ไขปัญหา ในการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงวิถีชีวิต หรือวิธีคิด

การแก้ไขปัญหายากจนจะต้องแก้ไขกันเป็นรายครัวเรือน ต้องทุ่มเททรัพยากร ความเสียสละ ความร่วมมือของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และที่สำคัญต้องอาศัยความตั้งใจของครัวเรือนยากจน และความเอื้ออารีของชุมชนที่ครัวเรือนยากจนอาศัยอยู่ โดยทิ้งท้ายอีกว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน สำคัญที่สุดก็คือ ครัวเรือนต้องรู้จักปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปฏิบัติการดำรงชีวิตใหม่ และหน่วยงานจะต้องเข้าไปแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ครัวเรือนยากจนได้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อันจะทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ขณะที่ นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการแม่ฮ่องสอน ที่เพิ่งเดินทางมารับตำแหน่งใหม่เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้ชูนโยบายที่จะสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน เพื่อมุ่งแก้ปัญหาความยากจน โดยได้กำชับกับหัวหน้าส่วนราชการ ทำงานให้เกิดผลลัพธ์ถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น อาทิ การแก้ไขปัญหาเอกสารสิทธิที่ดินทำกิน การจัดหาแหล่งน้ำ ส่งเสริมการค้าชายแดน การพัฒนาการศึกษา พัฒนาการท่องเที่ยว ส่งเสริมการเกษตร จัดหาแหล่งจำหน่ายสินค้าชุมชน การเยียวยาผู้ประสบสาธารณภัยอย่างทันท่วงที เป็นต้น ทั้งนี้จะมีการประเมินการทำงานของหัวหน้าส่วนราชการทุก 6 เดือน โดยระบุตัวชี้วัดในการปฏิบัติงานก็จะมีผลต่อตัวบุคคลด้วย

...

...

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ แต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนก็เป็นจังหวัดที่ประชากรมีความสุขที่สุดในประเทศเช่นกัน เพราะถึงแม้จะอาศัยอยู่รวมกันหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประเพณี วัฒนธรรม แตกต่าง แต่ทุกคนก็อยู่กันได้อย่างกลมเกลียวกันและเป็นไปอย่างสงบ สันติ ไม่เคยมีเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวาย หรือแม้แต่โจรผู้ร้ายโจรกรรมทรัพย์สินก็แทบจะไม่มี เมื่อปี 2556 ทางเอแบคโพลล์ ได้จัดอันดับจังหวัดแห่งความสุข โดยออกสำรวจกลุ่มเป้าหมายแต่ละจังหวัด พบว่า จังหวัดที่ประชากรอยู่แล้วมีความสุขมากที่สุดของประเทศไทยอันดับ 1 คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ร้อยละ 60.9

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้เป็นจังหวัดแห่งความสุขของประเทศ ได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ วิถีชาวบ้านเป็นเมืองที่สงบ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คดีอาชญากรรมต่ำ มีความภูมิใจในประวัติศาสตร์ของคนในท้องถิ่น มีความเป็นเมืองและลักษณะวัตถุนิยมน้อยถึงปานกลาง และสำคัญที่สุดคือ คนในพื้นที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อเสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในหมู่ประชาชน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ปัจจุบันมีคนจากเมืองใหญ่หนีความวุ่นวายย้ายถิ่นฐานเข้ามาปักหลักอาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพิ่มขึ้นในทุกปี.

...

อ่านเพิ่มเติม รายงานพิเศษ "จนเงิน ไม่จนใจ อะไรคือทางแก้"

   • นิยามความจนในสังคมไทย ทำไมรวยกระจุก จนกระจาย ยากเกินจะเยียวยา
   • มุมมองแก้จน “กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ“ รัฐบาลต้องกล้าในสิ่งที่ควรทำ
   • มองทัศนะ “มูฮัมหมัด ยูนุส” เจ้าของโนเบล ทำอย่างไรจึงแก้ปัญหาความจนได้?
   • ยินดีต้อนรับสู่กับดักวงจร "หนี้" ออมน้อย รูดปรื๊ด จ่ายขั้นต่ำ ผ่อนน้านนาน
   • จิตวิทยาล่อเหยื่อ ติดหนี้เกือบล้าน ทวงโหด รอดตาย หายจน เพราะ "พระ"
   • ส่องโปรไฟล์ 14.5 ล้านคน รอรัฐเร่งช่วยแก้จน