ภายหลังรัฐบาลได้ประกาศให้อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็น “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” ส่งผลให้แม่สอดจากเดิมเป็นแค่เมืองเล็กๆ ติดชายแดนประเทศเมียนมา กลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ขึ้นมาทันที
โดยเฉพาะ เขตเทศบาลนครแม่สอด เดิมราคาที่ดินแค่ไร่ละ 1-2 ล้านบาท ปัจจุบันพุ่งพรวดไปถึงไร่ละ 20-30 ล้านบาท นักลงทุนจากทั่วทุกสารทิศมองเห็นช่องทางการลงทุนต่างหอบหิ้วกระเป๋าเงินเข้ากว้านซื้อที่ดินสร้างโรงงานโรงแรมกันจำนวนมาก เพราะเป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน มีการยกเว้นภาษีให้สารพัด
...
ทำให้ อำเภอแม่สอด ในวันนี้ เติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดกลายเป็น “ขุมทอง” แห่งใหม่ของนักลงทุน
ปัจจุบัน “แม่สอด” เปรียบเสมือนประตูหน้าด่านสำคัญบนเส้นทาง ระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก–ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) หรือเส้นทางหมายเลข 9 (R9) มีมูลค่าการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ปีละเกือบแสนล้านบาท
ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ อาทิ เทสโก้ โลตัส, โรบินสัน, แม็คโคร ฯลฯ อีกทั้งคอนโดมิเนียมผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ล่าสุด กลุ่มนักลงทุนชาวจีน เข้ามากว้านซื้อที่ดินเตรียมสร้างอาณาจักรคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่หลายร้อยยูนิตรองรับการขยายตัวของเมือง
...
ในขณะที่ ท่าอากาศยานแม่สอด แต่ละวันต้องรองรับผู้โดยสารถึง 5 เที่ยวบิน และขณะนี้กำลังขยายรันเวย์ เป็น “สนามบินนานาชาติ” เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก คาดว่าปีหน้าจะสามารถเปิดให้บริการได้ ส่วนสายการบินแม่สอด-เชียงใหม่ จะเปิดให้บริการในต้นเดือน มี.ค.62 นี้
“การเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว หน่วยงานที่ต้องรับศึกหนักคือ เทศบาลนครแม่สอด เพราะการที่มีนักลงทุน นักท่องเที่ยว รวมทั้งแรงงานหลั่งไหลเข้าไปในพื้นที่จำนวนมาก เรื่องสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา ไฟฟ้า และถนนหนทาง จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรองรับ”
...
นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด เผยถึงการพัฒนาแม่สอดที่เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว
นายกเทศมนตรีนครแม่สอดกล่าวว่า เทศบาลนครแม่สอดอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ สิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาคือระบบคมนาคมโลจิสติกส์ เพราะเป็นเมืองหน้าด่านชายแดนไทย-เมียนมา เป็นเมืองเศรษฐกิจ เชื่อมกับเส้นทาง East-West Economic Corridor หรือเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก หรือเรียกอีกอย่างว่า R9 (เส้นทางหมายเลข 9)
...
อีกทั้งแม่สอดยังเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว จำเป็นต้องเร่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุนให้แม่สอดเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติโครงการเมกะ
โปรเจกต์มากมาย
“เราพร้อมจะเดินหน้าสร้างนครแม่สอดให้เป็น DRIVE MAESOT PROJECT ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว” นายเทอดเกียรติ กล่าวย้ำ
ที่ผ่านมา เทศบาลนครแม่สอด, สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ Japan International Coorperation Agency-JICA และ Nation Graduate Institute For Policy Studies-GRIPS แห่งประเทศญี่ปุ่น ดำเนินโครงการเพื่อพัฒนากลไกการบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการและมีประสิทธิผล เพื่อศึกษาโครงการการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพ นำร่องการใช้กลไกการบริหาร
ได้จัดประชุมสัมมนาร่วมหารือระหว่าง สถาบันพระปกเกล้า ภาครัฐ–เอกชน อปท. เกี่ยวกับการตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเมืองแม่สอด จัดทำแผนยุทธศาสตร์เมืองและนำไปสู่การผลักดันและขับเคลื่อนในทางปฏิบัติ DRIVE MAESOT PROJECT
เช่น การจัดตั้งคณะทำงานประสานแผน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปท. 14 ตำบล 3 อำเภอในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด) สร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการสาธารณะ การศึกษา การค้า-การลงทุน การท่องเที่ยว ฯลฯ อย่างบูรณาการ
“ขณะเดียวกันเราได้นำเสนอรัฐบาลเพื่อยกฐานะ เทศบาลนครแม่สอด เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนครแม่สอด เทียบชั้นเหมือนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษพัทยา เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการพื้นที่” นายเทอดเกียรติ กล่าวถึงการยกฐานะการปกครองท้องถิ่นในอนาคต
ในขณะที่การพัฒนาเมือง กรมทางหลวง มีการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 สายตาก-แม่สอด โครงการก่อสร้างถนนสาย 130 และ สะพานมิตรภาพไทย–เมียนมา แห่งที่ 2 เสร็จเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ กรมทางหลวง ยังมีโครงการ “เจาะอุโมงค์” ถนนสายเอเชียนครแม่สอด-ตาก, โครงการรถไฟสายนครสวรรค์–นครแม่สอด อีกทั้งยังสร้างสนามกีฬา 5 อำเภอชายแดน เป็นสนามกีฬามาตรฐานสากล กำลังจะเปิดใช้งานแล้ว
ความเจริญพุ่งเข้าสู่แม่สอดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในอนาคตหากได้รับการยกฐานะเป็น “ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนครแม่สอด” จะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบในยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ได้.
พิชิต พฤกษาโสภา รายงาน