วันที่ 25 มิ.ย. เป็นเวลา 40 กว่า ชม.ในการค้นหาเด็กๆ นักฟุตบอลเยาวชน ทีมหมูป่าอะคาเดมี พร้อมโค้ช รวม 13 ชีวิต หายตัวในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน พื้นที่บ้านจ้องวัด หมู่ 9 ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่เย็นวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อช่วงเช้า เวลา 06.00 น. ได้ส่ง 18 มนุษย์กบ จากกรมรบพิเศษที่ 1 ฐานทัพเรือสัตหีบ พร้อมหน่วยสนับสนุน สำรวจถ้ำ เพื่อหาช่องทางระบายน้ำ และนำโคลนออก ในการเข้าช่วยเหลือ ซึ่งขณะนี้สามารถเจาะทะลุอุโมงค์ถ้ำของอีกฝั่งได้แล้ว ยังไม่พบผู้สูญหาย โดยระดับน้ำในถ้ำได้เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ นายอนุกูล สอนเอก ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจภูมิศาสตร์ และนักผจญภัย ซึ่งเคยสำรวจถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน บริเวณกิโลเมตรที่ 5-6 เมื่อ 2 ปีก่อน เปิดเผยกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า ยังเชื่อเด็กๆ ยังอยู่ ในพิกัดประมาณ 1 กิโลเมตร จากปากถ้ำ ซึ่งที่ผ่านมาทีมช่วยเหลือได้เข้าไประยะทาง 3 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ถือว่าไกลมาก แต่ตนเชื่อว่าอาจทำได้ โดยบางช่วงในถ้ำต้องดำน้ำเข้าไป ให้ผ่านช่องเล็กๆเข้าไปให้ได้ พร้อมต้องสูบน้ำออก เพื่อจะสามารถค้นหาเด็กที่สูญหาย และหากพบเด็กจะเกิดปัญหาในการนำเด็กออกมาจากถ้ำ เนื่องจากเด็กๆไม่มีความชำนาญ

“จะต้องสูบน้ำออกจากถ้ำ เพื่อให้เป็นทางออก โดยกังวลน้ำจะเอ่อมาอีก ทำให้การช่วยเหลือเป็นได้ยากมาก ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน หวังว่าฝนจะเบาบางลง แต่หากฝนตก 10 มม. จะลำบาก และหากเด็กๆ ที่สูญหาย อยู่ถูกที่ในพื้นที่ปลอดภัย ประมาณครึ่งกิโลเมตรจากปากถ้ำไปถึงเกาะในถ้ำ คิดว่าน่าจะช่วยเหลือได้ ซึ่งทีมช่วยเหลือ หากลงตำแหน่งในถ้ำที่แน่นอน จะสามารถค้นหาได้ จากการช่วยเหลือของมิสเตอร์เวิร์น อันสเวิร์ส ผู้เคยสำรวจถ้ำ เมื่อ 2-3 อาทิตย์ก่อน และหากเป็นไปได้ ตนเองอยากลงพื้นที่เชียงรายไปช่วยเหลือ หากไม่ติดงาน”

...

สำหรับถ้ำดังกล่าว ตามปกติในทุกๆ ปี จะมีการเขียนป้ายประกาศปิดชัดเจนในช่วงเดือนก.ค. เนื่องจากน้ำเริ่มมา แต่ในปีนี้ น้ำมาเร็วกว่าทุกๆปีกว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งเด็กที่สูญหายได้แอบเข้าไปในถ้ำ นำจักรยานไปซ่อนในถ้ำ ก่อนเข้าไป โดยไม่บอกเจ้าหน้าที่ โดยถ้ำมีความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร และเมื่อเด็กได้เข้าไป น้ำในถ้ำได้ค่อยๆ เอ่อซึมขึ้นมาตามรอยแตกในชั้นหิน มาพร้อมกับน้ำในชั้นบาดาล โดยน้ำจะขึ้นอย่างช้าๆ โดยระยะเวลาที่สูญหายกว่า 40 ชั่วโมง ซึ่งคนเราสามารถอดอาหารได้มากถึง 7 วัน แต่ขาดน้ำไม่ได้ จะอยู่ลำบาก ส่วนอากาศภายในถ้ำ สำหรับ 13 คน จะเพียงพอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งพื้นที่ หากอยู่ในพื้นที่ที่กว้างและใหญ่ จะสามารถอยู่ได้ และต้องมีไฟฉาย เพื่อความอยู่รอดในถ้ำ โดยเฉพาะหาน้ำในถ้ำกิน

ในฐานะนักผจญภัยผู้มีประสบการณ์ได้แนะนำวิธีเอาตัวรอดในถ้ำ ซึ่งอย่างแรกอย่าเอาตัวเข้าไปเสี่ยงในจุดอันตราย เพราะอาจตายได้ หากไปเที่ยวถ้ำในช่วงหน้าแล้งให้สังเกตมองสัญญาณต่างๆ ในถ้ำ เช่น ผนังถ้ำมีเศษกิ่งไม้ติดอยู่หรือไม่ หากมีให้รีบออกจากถ้ำก่อนน้ำมา เพราะหากช้าจะไม่มีอากาศหายใจ ให้รีบหนีไปไกลๆ ไปหาที่ปลอดภัย เนื่องจากอยู่ในถ้ำหากมีฝนตกข้างนอกจะไม่รู้เลย ซึ่งมีเวลาไม่ถึง 4 นาที ต้องรีบหาที่ปลอดภัยอยู่บนพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำ

นอกจากนี้ ควรเช็กอากาศภายในถ้ำว่ามีคาร์บอนไดออกไซด์มากน้อยเพียงใด เพราะหากสะสมมากปอดจะขาดอากาศหายใจ จนทำให้สมองน็อกเหมือนจมน้ำแห้งและเสียชีวิตในทันที ทั้งนี้หากเข้าไปในถ้ำแล้วรู้สึกหายใจอึดอัด ให้สงสัยว่ามีคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก หรือนำไฟแช็กมาจุดตรวจดูเปลวไฟ หากเปลวไฟขาดช่วงแสดงว่ามีออกซิเจนน้อยลง

ส่วนกรณีหลงทางให้ตามรอยเท้าของคนอื่นเพื่อหาทางออกมา แต่ต้องมีไฟส่องสว่างเพียงพอ ซึ่งในขณะเข้าถ้ำทุกครั้งควรทำสัญลักษณ์ไว้ และที่สำคัญก่อนจะเข้าถ้ำควรบอกคนใกล้ชิด หากไม่กลับออกมาตามเวลาที่ระบุ จะได้ติดตามช่วยเหลือ รวมถึงก่อนเข้าถ้ำ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลบอกพิกัดให้ชัดเจนอย่างละเอียดจะกลับออกมาประมาณเวลากี่โมง หากไม่กลับออกมาจากถ้ำ จะได้ติดตามหาตัว เป็นต้น.