กรณีโรงงานนมสุโขทัย ในสังกัดองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ที่ก่อตั้งในปี 2541 มีศักยภาพรองรับน้ำนมดิบได้วันละ 130 ตัน แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ อ.ศรีนคร คีรีมาศ ทุ่งเสลี่ยม กงไกรลาศ จ.สุโขทัย และศูนย์ส่งเสริมฯ อ.โพทะเล จ.พิจิตร ส่งน้ำนมดิบเข้าโรงงานได้วันละ 10.45 ตัน หรือแค่เพียง 8% ของกำลังผลิตเท่านั้นเอง

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผอ.อ.ส.ค. เผยว่า แนวทางการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความคุ้มทุนในการเดินเครื่องจักร ควบคู่กับการขยายกำลังการผลิตให้สามารถส่งออกตามที่ อ.ส.ค. ได้ตั้งเป้าจะขยายตลาดนมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม กัมพูชา และลาว และให้ปริมาณน้ำนมเพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนล่าง

ทางจังหวัดสุโขทัยและสหกรณ์การเกษตรสวรรคโลก จึงได้จัดโครงการเช่าซื้อแม่โคนมสำหรับเกษตรกรรายย่อย โดยสหกรณ์การเกษตรสวรรคโลกฯ ได้จัดหางบ 11 ล้านบาท ให้เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ที่สนใจอาชีพการเลี้ยงโคนม ใช้เป็นแหล่งเงินทุนซื้อแม่โคตั้งท้องจำนวน 200 ตัว มาให้เกษตรกรเช่าซื้อไปเลี้ยงเข้าฝูง เตรียมรีดนม

...

“เหตุที่ต้องใช้วิธีจัดซื้อแม่โคสาวตั้งท้อง เนื่องจากเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงเรื่อง แม่โคผสมไม่ติด เพราะแม่โคที่ซื้อมา ได้ผ่านการคัดเลือกจากกรมปศุสัตว์แล้วว่า เป็นแม่โคนมคุณภาพ ผสมลูกติดแน่นอน ให้น้ำนมตามเกณฑ์ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องแบกภาระความเสี่ยงการขาดทุน และนอกจากนี้ ยังมีกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ อ.ส.ค.มาเป็นพี่เลี้ยงดูแลการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ การผสมอาหารสูตร TMR และอาหารผสมสำเร็จรูป จะช่วยให้การจัดการอาหารภายในฟาร์มโคนมมีต้นทุนไม่สูงมาก”

สำหรับการเช่าซื้อแม่โคนม ดร.ณรงค์ฤทธิ์ บอกว่า แบ่งเป็น 2 ระยะ ช่วงแรกคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ และจะจัดซื้อแม่โคส่งมอบให้เกษตรกรแล้วเสร็จภายใน ธ.ค.2560 จำนวน 100 ตัว และช่วงที่ 2 จะดำเนินการในเ ม.ค.-เม.ย. 2561 อีก 100 ตัว เพื่อให้แม่โคสามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่และที่อยู่ใหม่ ลดปัญหาแมลงดูดเลือดซึ่งชุกชุมมากในช่วงฤดูฝน ส่วนการแบ่งจ่ายค่าเช่าซื้อ จะหักรายได้บางส่วนที่เกษตรกรส่งน้ำนมโคเข้าสหกรณ์การเกษตรสวรรคโลก.