สกสว.นำนักวิชาการและงานวิจัยมาส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดบึงกาฬ ด้วยการนำเอาความเชื่อเรื่องพญานาค มาเป็นซอฟต์พาวเวอร์สร้างงานศิลปะ ในคอนเซปต์ Local สู่เลอค่า เรียบง่ายแต่ดูแพง ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต และสตรีทอาร์ต ของ โรงพยาบาลโซ่พิสัย

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหาร สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สคช. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกวก.) ได้เดินทางมายัง โรงพยาบาลโซ่พิสัย อ.โซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ เพื่อลงพื้นที่ดูงานการขับเคลื่อนผลงานศิลปะร่วมสมัยพญานาคและชุมชนสู้การเป็นศิลปะบำบัดในโรงพยาบาล โดยมี นพ.สุรพงษ์ ลักษวุธ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโซ่พิสัย ให้การต้อนรับพร้อมนำชมงานศิลปะในแต่ละแผนก

...

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลโซ่พิสัยดูแลชาวบ้านทั้งอำเภอราวๆ  30,000 ราย มีแพทย์ 8 นาย พร้อมพยาบาลและเจ้าหน้าที่อีกนับร้อยชีวิต ปัจจุบันการให้บริการปรับเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ คนไข้สามารถนัดพบแพทย์ผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม มีจุดตรวจวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ 5 เครื่อง ที่แผนกผู้ป่วยนอก เมื่อคนไข้พบแพทย์และรับการตรวจวินิจฉัยแล้ว สามารถกลับบ้านได้ทันที เพราะคนไข้สามารถรับยาได้ที่บ้านผ่านการจัดส่งโดยไปรษณีย์ไทย ผลตรวจรักษาคนไข้ทั้งหมดเป็นระบบ Paperless ตามรูปแบบการทำงานยุคดิจิทัล 

นอกจากในด้านการรักษาแล้ว ในส่วนของภูมิสถาปัตย์ การออกแบบอาคารสถานที่ให้มีความทันสมัย เช่น อาคารแบบนอร์ดิกสไตล์ เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวใน จ.บึงกาฬที่ "เรียบหรู ดูแพง"  มีโซนพักผ่อนรับรองที่เป็นเหมือน Co-Working Space มีอินเทอร์เน็ตไว-ไฟ นอกจากนี้ยังมีการปลูกดอกเฟื่องฟ้าสีม่วงไว้ที่หน้าโรงพยาบาลให้ดูสบายตา พื้นสีสว่าง ผนังสะอาดไม่มีการแปะติดป้ายภาพน่ากลัว ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลโซ่พิสัย ยังมีพื้นที่พักผ่อนที่เป็นทั้งบ้านพัก เจ้าหน้าที่ที่แต่งแต้มสีสันอาคารเป็นสีลูกกวาดแบบหมู่บ้านโพรวองซ์ที่เกาหลีใต้ มีโซนบ้านพักที่ทำเป็นหลังๆ แบบรีสอร์ต มีนาข้าว รวมทั้งงานศิลปะกราฟฟิตี้ตามผนังของอาคารในโรงพยาบาลด้วย ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย เป็นมิตร ไม่ดูน่ากลัว หรือ ที่เรียกว่า Healing Environment 

...

งานศิลปะทั้งหมดได้แนวคิด และคำแนะนำจากนายสุทธิพงษ์ สุริยะ หรือ อ.ขาบ กรรมการผู้จัดการบริษัท ขาบสไตล์ จำกัด ที่เคยฝากผลงานนำเอาภาพพญานาคไปวาดตามที่ต่างๆ จึงขอให้ อ.ขาบมาทำศิลปะบำบัดเป็นรูปพญานาคที่โรงพยาบาล ก็มีอาสาสมัครเป็นน้องๆ จาก สาธิต มศว ปทุมวัน และนักศึกษา ปี 4 มรภ.อุดรธานี มาสร้างสรรค์ภาพ โดยร่างในจอคอมพิวเตอร์ แล้วยิงฉายผ่านเครื่องโปรเจกเตอร์ ออกเป็นลายเส้นใช้เวลาวาดกัน 3 วันเสร็จ ภาพที่ออกมาทำให้ประชาชนลดความอึดอัดเมื่อต้องมาโรงพยาบาล คนไข้ก็ผ่อนคลายลงไม่กลัว อีกทั้งยังเป็นกระแสทำให้คนอยากเดินทางมาดูงานศิลปะ เป็นโรงพยาบาลที่ทัวร์มาลงจริงๆ ตรงจุดนี้ทำให้โรงพยาบาลโซ่พิสัยกลายเป็น Happy Workplace ของทั้ง จนท. และแพทย์ พยาบาล

...

จากนั้น คณะของ สคช.และ สกสว.เดินทาง เยี่ยมชมสตรีทอาร์ต จาก Local สู่เลอค่า ผ่านความเชื่อและความศรัทธาของชาวบึงกาฬ ณ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ของ อาจารย์ขาบ ที่ อ.โซ่พิสัย 

...

ด้าน นางสาวศศิธร พลัตถเดช ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช.กล่าวว่า ทาง สกสว.ให้ความสำคัญกับการนำเอาวิทยาศาสตร์ งานวิจัย และนวัตกรรม หรือ "ววน." เพื่อนำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ในมิติการเกษตร จ.บึงกาฬ มีศักยภาพในการปลูกยางพาราและได้ผลผลิตมากที่สุดในประเทศ ส่วนมิติการท่องเที่ยว บึงกาฬมีอัตลักษณ์ของชุมชนที่มีความเชื่อเรื่องพญานาค สามารถนำมาสร้างมูลค่าและต่อยอดเพื่อความยั่งยืนได้ และเพื่อลดปัญหาความยากจน จึงมีการพุ่งเป้าทำงาน ในการพัฒนาคนในพื้นที่ ให้เมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำ ไม่อพยพย้ายออกจากพื้นที่ หวังว่า การนำเอา ววน.มาใช้จะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่ชุมชนต่อไป 

ขณะที่ ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ รองผู้อํานวยการ สกสว.กล่าวว่า จากที่ทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬให้ความสนใจนำเอาเรื่อง ววน.มาพัฒนาจังหวัด นำพญานาคมาเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เป้นของแท้ มีจำกัด ที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเทคโนโลยี ทำให้การนำงานวิจัยมาใช้เกิดความร่วมมือและมีการมุ่งเป้าในพื้นที่ หาคนรุ่นใหม่มาช่วยผลักดันเป็นพันธมิตรที่เชื่อมโยงข้อมูลจากผู้รู้เพื่อดำเนินการ

นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวถึง การพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดว่า การท่องเที่ยวเรามีน้ำตกถึง 6 แห่ง มีหินสามวาฬ  มีถ้ำนาคา บึงโขงหลง วัดอาฮงศิลาวาส วัดภูทอก นอกจากนี้ ความเชื่อเรื่องพญานาคยังทำให้เกิดอาร์ตทอยส์ท้องถิ่นคือ "นาคกี๊" ทำให้ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากขึ้น ที่ผ่านมาเราได้ระดมเอาผู้รู้มาช่วยพัฒนาบึงกาฬ โดย อ.ขาบ ให้คำแนะนำ ในการใช้สีม่วงเป็นสัญลักษณ์ของบึงกาฬ เราทำทุกที่ให้เป็นสีม่วงใครมาเห็นก็จะรู้ว่านี่คือบึงกาฬ แม้เป็นจังหวัดที่ติดอันดับด้านความยากจน แต่ก็มีต้นทุนวัฒนธรรมเช่นกัน เพราะเรามีอาหารพื้นถิ่นลุ่มน้ำโขง มีอาหารเวียดนาม อีกทั้งอากาศก็ดี PM2.5 น้อย

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว.กล่าวถึงการท่องเที่ยวในด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ว่า บึงกาฬมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงชุมชน เชื่อมโยงด้วยความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค ในงานวิจัยของ มรภ.อุดรธานีและ มรภ.เลย ได้ทำเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารลุ่มน้ำโขง เพราะอาหารอีสานแถบนี้ แตกต่างจากอาหารใน 7 ลุ่มน้ำอื่นๆ ของไทย เพราะถูกนำมาเป็นอาหารมงคลที่เชื่อมโยงกับความเชื่อ โดยจุดนี้สามารถสนองความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ที่มากับรถไฟความเร็วสูงจากลาว แล้วข้ามฝั่งมาเที่ยวไทย ตรงนี้ต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบค้างคืนในกลุ่มอีสานตอนบน โดยให้นักท่องเที่ยวนั่งรถยนต์มาเที่ยวบึงกาฬ  ขณะเดียวกันก็ต้องคิดถึงอนาคตในด้านการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยการให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการนำเอานวัตกรรมมาช่วย ทั้งนี้ สกสว.พร้อมรับโจทย์จากพื้นที่อื่นๆ ในการนำ ววน.มาใช้แก้ปัญหาเช่นกัน

ส่วน อ.ขาบ หรือ นายสุทธิพงษ์ สุริยะ กรรมการผู้จัดการบริษัท ขาบสไตล์ จำกัด กล่าวว่า ส่วนตัวในฐานะการเป็นดีไซเนอร์ เราอยากเป็นความเรียบหรูดูแพงจากฐานรากด้วยวิธีที่ถูกต้อง นำเอารสนิยมมาแก้ปัญหาความยากจน สร้างการรับรู้ว่า บึงกาฬต้องสีม่วง (Purple City) รวมไปถึงการแต่งกายที่ต้องเป็นที่จดจำ เช่นเดียวกับโครงสร้าง สถาปัตยกรรม เพื่อให้คนจดจำพื้นที่ตรงนี้ให้ได้ ชุมชนในพื้นที่จะได้เห็นตัวอย่างในการทำบ้านให้สวยงาม ทำให้คนรู้จักรากของเรา ทำเป็นเรื่องราวบอกเล่า ดังนั้นภาพกราฟฟิตี้ที่ รพ.โซ่พิสัย คือ การสร้าง "โซ่พิสัย โมเดล" ด้วยการเอารสนิยมไปจับตลาดไฮ-เอนด์ เพื่อให้คนสนใจเห็นแล้วพุ่งตรงมาเที่ยวบึงกาฬ.