วัฒนธรรมจังหวัดพังงา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ในบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยมีการประกวดการทำอาหารพื้นถิ่นรางวัลชนะเลิศ พร้อมโชว์ 6 เมนู เพื่อมุ่งอนุรักษ์  ฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรม ภูมิปัญญา กลุ่มชาติพันธุ์ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ บ้านวัฒนธรรมมอแกน ทับตะวัน หมู่ที่ 7 ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จัดกิจกรรมฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจังหวัดพังงา โดยมี น.ส.อุไรวรรณ แดงงาม วัฒนธรรมจังหวัดพังงา พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนข้าราชการ กำนันผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมทำกิจกรรม ทางกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยและทำมาหากินในบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามันของประเทศไทยมานานหลายร้อยปี มีภาษาวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่เป็นเอกลักษณ์และมีภูมิปัญญาอันชาญฉลาดในการดำรงชีวิตกับท้องทะเล ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมี 3 กลุ่ม คือ ชาวมอแกน ชาวมอแกลน และชาวอูรักลาโว้ย

...

วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเลมีปัญหาในด้านความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ความมั่นคงของสวัสดิภาพ/สวัสดิการ ความมั่นคงของฐานทรัพยากร ความมั่นคงทางอาชีพ การคุกคามสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความไม่ชัดเจนในเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม (วิถีชาวเล) เนื่องจากการกำหนดแนวนโยบาย หรือมาตรการที่ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ การขับเคลื่อนแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และชาวกะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรี 2553 ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด มีพลวัตของการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นความสำคัญต่อการพัฒนาแนวทางการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในมิติต่างๆ ทั้งในด้านการอนุรักษ์  ฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรม ภูมิปัญญา กลุ่มชาติพันธุ์ การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

โดยภายในกิจกรรมในครั้งนี้ได้มีการประกวดการทำอาหารพื้นถิ่นรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ 1.ต้มส้มปลากดทะเล (ชุมชนบนไร่) 2.แกงพุงปลามอแกน (เคี้ยวแม่เหล็กแก้ะก้านชุมชนปากวิป) 3.ปลาทองขมิ้น (ชุมชนทับตะวัน) 4.การทำส้มตำมอแกน (ทิมลอกอแม่เหล็กมอแกลนชุมชนบางขยะ) 5.ต้มกะทิปลาสมุนไพร (เดอะบุ๊แอก๊านกระทิ ชุมชนทุ้งหว้า) 6.ยำหอยกัน (ยำเอี้ยงร้อก้านชุมชนน้ำเค็ม)  

น.ส.อุไรวรรณ แดงงาม วัฒนธรรมจังหวัดพังงา กล่าวว่า กิจกรรมทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กระบวนการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาความรู้ความเข้าใจแนวคิดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนการส่งเสริมศักยภาพการจัดเก็บข้อมูลชุมชนชาติพันธุ์ด้วยเครื่องมือ 7 ชิ้น ก่อให้เกิดการพัฒนาชุดข้อมูลชุมชนชาติพันธุ์ที่แสดงให้เห็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมา ข้อมูลแผนที่แสดงขอบเขตชุมชน วิถีชีวิตวัฒนธรรม ตลอดจนศักยภาพของชุมชนในด้านต่างๆ สะท้อนผ่านวัตถุสิ่งของ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ อาหาร รวมถึงเรื่องราวที่ปรากฏในวิถีชีวิตประจำวัน แสดงให้เห็นความหลากหลายของทุนวัฒนธรรม.

...