ตัวแทนผู้ประกอบการและภาคเอกชน จ.พิษณุโลก รวมตัวเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ เมืองสองแคว คัดค้านนโยบายรัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ชี้ผลเสียมากกว่าได้กระทบหลายด้าน โดยผู้ว่าฯ มอบให้แรงงานจังหวัดดำเนินการในการพิจารณาไตรภาคีฯ ต่อไป

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 มิ.ย.2567 ที่ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นายเกริกศักดิ์ งามวิลาศ ประธานสมาคมธนาคารไทย จังหวัดพิษณุโลก /ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จ.พิษณุโลก น.ส.พญา ธาราวุฒิ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.พิษณุโลก นายฐานุพงศ์  เจริญสุรภิรมย์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จ.พิษณุโลก นายปกรณ์  ด่านสีทอง ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก พร้อมสมาชิกจำนวน 8 คน ได้มายื่นหนังสือเปิดผนึก เรื่องคัดค้านการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สืบเนื่องจากการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศของภาครัฐ ต่อ นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ก่อนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกจะมอบหมายให้ น.ส.วิริยาภรณ์ เปรมโพธิ์ แรงงานจังหวัดพิษณุโลกดำเนินการในการพิจารณาไตรภาคีของจังหวัดพิษณุโลกต่อไป

...

น.ส.พญา เปิดเผยว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจและภาระต้นทุน การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและบริบทของแต่ละจังหวัด ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านค่าครองชีพ ระดับราคาสินค้าและบริการ ตลอดจนศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ การปรับขึ้นค่าจ้างที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยเหล่านี้ เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนแก่ผู้ประกอบการอย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งรัฐเองก็เห็นว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.พิษณุโลก กล่าวต่อว่า ผลกระทบต่อการจ้างงานและการลงทุน  การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดด ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาพรวม โดยอาจทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงาน ลดกำลังการผลิต หรือชะลอการลงทุน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ผลกระทบต่อค่าครองชีพ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกครั้งที่ผ่านมา ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพโดยรวมที่สูงขึ้นของประชาชนทุกกลุ่มชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อย เช่น ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และผู้ประกอบอาชีพอิสระขนาดเล็ก ที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ที่เป็นสัดส่วน เมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

น.ส.พญา กล่าวอีกว่า ขณะที่ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซ้ำซ้อน ในปี 2567 นี้มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาแล้วถึงสองครั้ง การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งในเวลาอันใกล้นี้ด้วยอัตรานี้ จะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการอย่างแน่นอน

"เรามีภาคีสามฝ่ายอยู่แล้ว มีหลักเกณฑ์การคำนวณในการพิจารณาขึ้นค่าแรงอยู่แล้ว ค่าแรง 400 บาท เป็นไปตามนโยบายหาเสียงของรัฐบาล ต้องขอร้องฝ่ายการเมือง รัฐบาล อย่านำนโยบายหาเสียงขึ้นค่าแรง 400 บาท จะสร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศไทย ภาครัฐควรสร้างสมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพให้กับแรงงาน เพื่อสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน" ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.พิษณุโลก กล่าว

น.ส.พญา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ คณะกรรมการค่าจ้าง รวมถึงกรรมการจากฝ่ายราชการ ควรตระหนักถึงหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด โดยปราศจากการแทรกแซงใดๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นนิติรัฐของประเทศ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการค่าจ้าง จะพิจารณาข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าว เพื่อให้การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ.